เอเอฟพี - เยอรมนีกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าชาติแรก ที่จะหันหลังให้กับพลังงานนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง โดยประกาศวันนี้ (30) ถึงแผนการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดและยุติการพึ่งพาพลังงานปรมาณูในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศอย่างถาวรภายในปี 2022 ทั้งนี้ รัฐบาลแดนดอยช์ให้เหตุผลว่า วิกฤตเตาปฏิกรณ์หลอมละลายและสารกัมมันตรังสีรั่วไหลในญี่ปุ่นทำให้ต้องเร่งทบทวนนโยบายนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าสาเหตุแท้จริงส่วนหนึ่งอยู่ที่กรุงเบอร์ลินมุ่งลดกระแสเดือดดาลของประชาชนลง ภายหลังนโยบายต่ออายุใช้งานเตาปฏิกรณ์ก่อนหน้านี้ได้สะเทือนคะแนนนิยมของพรรครัฐบาลอย่างหนัก จนส่งผลให้พ่ายแพ้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในช่วงหลังๆ นี้
นอร์เบิร์ต โรเอตต์เกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมนี ประกาศการตัดสินใจของรัฐบาลเมื่อเช้าวานนี้ ว่าจะยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศภายในปี 2022 นี้ หลังจากที่ผลกระทบด้านลบของพลังงานนิวเคลียร์จากวิกฤตการณ์ที่ญี่ปุ่นได้ปลุกกระแสตื่นกลัวในเยอรมนีมากขึ้นไปอีก โดยโรเอตต์เกน ยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวจะไม่มีการ “กลับลำ” อย่างแน่นอน
“หลังจากที่มีการหารือกันมานาน ก็มีการตกลงกันแล้วว่าจะให้ยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ตลอดไป” โรเอตต์เกน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวภายหลังจากที่มีการเจรจาหารือกันนาน 7 ชั่วโมง จนเวลาล่วงเข้าสู่วันใหม่ที่ห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล
“การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปด้วยความสอดคล้องต้องกัน, เด็ดขาด และชัดเจน” เขาสำทับ
ทั้งนี้ เยอรมนีมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสิ้น 17 เตา โดยจำนวนนี้ 8 เตาอยู่ในสถานะปิดการทำงาน โดยที่ 7 จาก 8 เตาดังกล่าวเป็นเตาปฏิกรณ์ที่ใช้งานมายาวนานที่สุด รัฐบาลได้สั่งปิดเตาเหล่านี้ลงชั่วคราว 3 เดือนเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย หลังจากปัญหาวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะในญี่ปุ่นซึ่งลุกลามมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ได้สร้างกระแสหวาดวิตกอย่างมากในเยอรมนี
ส่วนเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 8 ซึ่งตั้งอยู่ในโรงไฟฟ้าครืมเมล ทางตอนเหนือของประเทศนั้น ได้ปิดการใช้งานมาแล้วเป็นหลายปีสืบเนื่องจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิค
รัฐมนตรีเมืองเบียร์ผู้นี้ ให้รายละเอียดของแผนการของรัฐบาลว่า เตาปฏิกรณ์ 8 เตาที่ปิดทำงานไปก่อนแล้วเหล่านี้ ก็จะให้ปิดใช้งานถาวรโดยไม่เร่งปฏิกิริยาแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ ขณะที่อีก 6 เตาจะทยอยปิดการทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2021 ส่วนอีก 3 เตาที่เหลือ ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดของประเทศนั้น จะยุติการทำงานลงภายในสิ้นปี 2022
การตัดสินใจปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวจะทำให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศยักษ์อุตสาหกรรมชาติแรกที่ประกาศแผนยุติการใช้พลังงานปรมาณูแบบถาวร อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ก็ได้นำมาซึ่งปัญหาท้าทายสำหรับรัฐบาลในภายภาคหน้าว่าจะสามารถจัดหาแหล่งพลังงานอื่นมาผลิตไฟฟ้าทดแทนส่วนที่จะขาดหายไปจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งมีสัดส่วนราว 22 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศได้อย่างไร
ทว่าเรื่องนี้ รัฐมนตรีโรเอตต์เกนได้ให้คำมั่นว่า “เราขอรับรองว่าจะสามารถแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้อย่างทั่วถึงทุกคนและทุกเวลาแน่นอน” แต่กระนั้นเขาก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะอาศัยแหล่งพลังงานอื่นใดมาทดแทน
การตัดสินใจของรัฐบาลเบอร์ลินเมื่อวานนี้ถือเป็นการกลับไปยึดเค้าโครงตารางเวลาตามที่อดีตรัฐบาลชุดผสมของพรรคโซเชียล เดโมแครต-กรีน เคยประกาศไว้เมื่อ 1 ทศวรรษก่อน ซึ่งตามตารางเวลาเดิมนั้นกำหนดให้มีการปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2010 ที่ผ่านมา แต่แล้วก็เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงแมร์เคิล ที่ตัดสินใจจะขยายเวลาการทำงานของเตาปฏิกรณ์ทั้ง 17 เตาต่อไปอีกเฉลี่ย 12 ปี ซึ่งทำให้เตาปฏิกรณ์จะถูกใช้งานไปจนกระทั่งถึงกลางทศวรรษที่ 2030
การปรับเปลี่ยนนโยบายของประเทศโดยรัฐบาลแมร์เคลคราวนั้นได้จุดกระแสความไม่พอใจเป็นวงกว้างในหมู่ชาวเยอรมันเรื่อยมา ก่อนจะระเบิดขึ้นเป็นการประท้วงต่อต้านนิวเคลียร์ไปทั่วประเทศ หลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นจนสร้างความเสียหายแก่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ และเกิดวิกฤตแท่งเชื้อเพลิงเตาปฏิกรณ์หลอมละลายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลของแมร์เคิลต้องทบทวนนโยบายด้านพลังงานใหม่อย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ ผลของการที่แมร์เคิลวกไปวนมาเกี่ยวกับนโยบายนิวเคลียร์ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวของประเทศนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมานั้น ก็ได้สั่นคลอนคะแนนนิยมของพรรคคริสเตียน เดโมแครต ยูเนียน (ซีดียู) ของเธอนับแต่บัดนั้น ดังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อพรรคกรีนส์ ซึ่งชูนโยบายต่อต้านนิวเคลียร์อย่างเด็ดเดี่ยว สามารถถีบพรรคซีดียู หล่นลงมาเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นนครรัฐเบรเมน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พรรคกรีนส์สามารถกวาดคะแนนเสียงแซงหน้าพรรคซีดียู ที่เป็นพรรคแนวอนุรักษนิยมในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นหรือการเลือกตั้งทั่วไป