เอเอฟพี - ขณะที่นานานชาติเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ผู้นำเยเมนลงจากอำนาจ การปะทะระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับฝ่ายรัฐบาลกลางกรุงซานายังคงดำเนินต่อไปในวันนี้ (26) เมือหลวงเยเมนระอุไปด้วยไฟแห่งความขัดแย้ง ซึ่งเหตุการณ์ได้พัฒนาตามลำดับเวลา ดังนี้
27 มกราคม: ชาวเยเมนชุมนุมประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ตามกระแสการปฏิวัติโลกอาหรับที่แพร่สะพัดมาจากการโค่นล้มอำนาจผู้นำตูนิเซียและอียิปต์ด้วยพลังประชาชน
2 กุมภาพันธ์: ประธานาธิบดีซาเลห์ให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปการเมือง และสัญญาว่าเขาจะวางมือทางการเมือง หลังจากหมดวาระตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 2013 วันถัดมาชาวเยเมนหลายหมื่นคนเรียกชุมนุม “วันแห่งความโกรธแค้น” ขณะเดียวกับกลุ่มผู้ภักดีต่อซาเลห์ก็รวมตัวชุมนุมสนับสนุนรัฐบาล
10 มีนาคม: ประธานาธิบดีซาเลห์ประกาศจะทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อถ่ายโอนอำนาจให้กับรัฐสภา แต่ฝ่ายค้านไม่เห็นชอบ
18 มีนาคม: กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลยิงฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านในกรุงซานาเสียชีวิต 52 ราย รัฐบาลเยเมนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
23 มีนาคม: ประธานาธิบดีซาเลห์แถลงว่าเขายินดีลงจากตำแหน่งในช่วงสิ้นปี 2011
4 - 6 เมษายน: มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คนระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงปะทะกับกองกำลังรักษาความมั่นคง
8 เมษายน: ประธานาธิบดีซาเลห์ปฏิเสธแผนทางออกของสภาความร่วมมือชาติอ่าวเปอร์เซีย (จีซีซี) ซึ่งเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเยเมนที่มีฝ่ายค้านเป็นแกนนำ
21 เมษายน: สภาความร่วมมือชาติอ่าวเปอร์เซียเสนอแผนการใหม่ โดยให้ประธานาธิบดีซาเลห์ลงจากอำนาจภายใน 30 วัน โดยจะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการดำเนินดคี
22 พฤษภาคม: ประธานาธิบดีซาเลห์ปฏิเสธการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว และเตือนว่าอาจเกิด “สงครามกลางเมือง” สภาความร่วมมือชาติอ่าวเปอร์เซียระงับความพยายามเป็นตัวกลางเจรจาหย่าศึก
23 - 24 พฤษภาคม: กลุ่มชนเผ่าติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในกรุงซานา บริเวณรอบๆ บ้านพักของชีคซอดิก อัล-อาห์มาร์ ผู้นำชนเผ่าที่สนับสนุนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่เดือนมีนาคม การปะทะครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 ราย
25 พฤษภาคม: กองกำลังชนเผ่าของอาห์มาร์สามารถยึดครองสถานที่หลายแห่ง ซึ่งรวมทั้งสำนักข่าวแห่งชาติ ซาบา ขณะเดียวกันประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประธานาธิบดีซาเลห์ลงจากอำนาจทันที
26 พฤษภาคม: ช่วงข้ามคืนที่ผ่านมามีรายงานว่าเกิดการปะทะขึ้นอีกระลอกส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 ราย โดยกองกำลังฝ่ายต่อต้านสามารถปิดสนามบินในกรุงซานาได้ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ สั่งอพยพครอบครัวของลูกจ้างรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั่วไปออกจากเยเมน