เอเอฟพี - โคลอมเบียกำลังประสบกับปัญหามหันตภัยทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังฝนตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตาต่อเนื่องในหลายพื้นที่ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโคลอมเบีย ฮวน มานูเอล ซานโตส แถลงต่อประชาชน คืนวานนี้ (25)
ฝนที่ตกหนักจากปรากฏการณ์ลานีญา ส่งผลให้ประชาชนชาวโคลอมเบียเสียชีวิตอย่างน้อย 69 คน เฉพาะภายในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว โดยยอดรวมผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากภัยธรรมชาติในปีนี้มีไม่ต่ำกว่า 90 ชีวิต ทางการโคลอมเบียเปิดเผย
“ราวกับว่า ดินแดนของเราถูกกระหน่ำด้วยพายุฮอร์ริเคนที่มาถึงตั้งแต่ปีที่แล้ว และไม่ยอมไปไหน” ประธานาธิบดีซานโตส กล่าวต่อประชาชน
“ปราศจากข้อสงสัยใดๆ ว่า ภัยธรรมชาติครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา” ผู้นำโคลอมเบียกล่าว อีกทั้งเรียกร้องความสามัคคีของคนในชาติ เพื่อฟันฝ่าภัยพิบัติดังกล่าว
ฝนที่ตกไม่ลืมหูลืมตาระลอกนี้ ได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ 28 เขต จากทั้งหมด 32 เขตทั่วโคลอมเบีย การคมนาคมทางถนน 16 สายเป็นอัมพาต เนื่องจากเกิดดินถล่มปิดทับเส้นทาง
ประธานาธิบดี ซานโตส ย้ำว่า ประชาชนราว 3 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากฝนห่าใหญ่มาตั้งแต่ปี 2010 โดยเฉพาะเดือนนี้มีชาวบ้านอย่างน้อย 36 คนได้รับบาดเจ็บ และอีก 8 คนสูญหาย ขณะเดียวกันผู้คนราว 98,000 ราย ได้รับผลกระทบ บ้านเรือน 183 หลังถูกทำลาย
ยอดรวมทั้งหมดภายในปีนี้มีผู้สูญหาย 15 คน ประชาชน 208,581 คน ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมโคลอมเบียระบุ เมื่อปี 2010 มีชาวโคลอมเบียมากกว่า 300 คนเสียชีวิตจากฝนที่ตกหนัก
ฮวน มานูเอล ซานโตส เผยว่า แผนการทำงานเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนจากฝนตกหนักระลอกแรกเมื่อปี 2010 ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากฝนยังคงตกต่อเนื่อง ดังนั้นขณะนี้รัฐบาลจึงมองไปที่การให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินก่อนเป็นอันดับแรก
เจ้าหน้าที่ตำรวจโคลอมเบีย มีภารกิจสำคัญในการช่วยชีวิต อพยพประชาชน แจกจ่ายอาหาร และให้การคุ้มครองศูนย์อพยพ ระดมกำลังฟื้นฟูถนนหลวง และคอยช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ คำแถลงของสำนักงานตำรวจโคลอมเบีย ระบุ
ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโคลอมเบีย ราว 160,000 คน และอากาศยานอีก 52 ลำ เข้ามามีส่วนร่วมกับปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ โดยรัฐบาลเปิดเผยตัวเลขว่า มีพื้นที่มากกว่า 900,000 เฮกเตอร์ (ประมาณ 5.6 ล้านไร่) เสียหายจากระดับน้ำที่เอ่อท่วมสูง และทางการได้เสนองบประมาณช่วยเหลือผู้ปะสบภัย 176 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5,000 ล้านบาท)