เอเจนซี - หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนท์เผย รัฐบาลอังกฤษเคยหารือแผนการหาประโยชน์จากแหล่งน้ำมันของอิรักกับบริษัทน้ำมันรายใหญ่ๆ ของโลก 5 เดือนก่อน ที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐฯ บุกอิรักในปี 2003
หนังสือพิมพ์ดังกล่าวรายงานว่า มีการประชุมระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ อย่าง บีพี และรอยัล ดัตช์ เชลล์ อย่างน้อย 5 ครั้ง ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน ปี 2002
อินดิเพนเดนท์รายงานโดยอ้าง เอ็ดเวิร์ด แชปลิน อดีตผู้อำนวยการกองตะวันออกกลางของกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งกล่าวหลังการประชุมกับกลุ่มบริษัทน้ำมันในเดือนตุลาคม ปี 2002 ว่า เชลล์ และบีพีไม่สามารถถือหุ้นในอิรักเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวได้ รัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะขอส่วนแบ่งที่ยุติธรรมสำหรับบริษัทเหล่านั้น หลังยุคของซัดดัม
หนังสือพิมพ์ดังกล่าวเสริมว่า 1 เดือนหลังจากนั้น กระทรวงต่างประเทศเชิญบริษัทบีพีร่วมหารือถึงโอกาสทางธุรกิจหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิรักอีกครั้ง โดยบีพีได้บอกกับกระทรวงต่างประเทศว่า อิรักมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งพวกเขาตั้งตารอมานาน
การตัดสินใจของอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ที่สนับสนุนการใช้กำลังบุกอิรัก ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ในปี 2003 เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมากที่สุดตลอด 10 ปีในฐานะผู้นำประเทศของเขา นำไปสู่ความแตกแยกภายในประเทศ เกิดการประท้วงใหญ่หลายครั้ง และยังถูกกล่าวหาว่าหลอกลวงประชาชน เมื่อไม่พบอาวุธทำลายล้างสูง ที่ใช้เป็นเหตุผลในการโจมตีอิรัก
หลังจากนั้น เอลิซาเบธ ซีมอนส์ รัฐมนตรีการค้าของอังกฤษก็ได้รับรองกับบีพีว่า รัฐบาลเชื่อว่าบริษัทด้านพลังงานต่างๆ ของอังฤษควรได้รับส่วนแบ่งในแหล่งน้ำมัน และก๊าซของอิรัก เป็นข้อตกลงผูกมัดของแบลร์ต่อแผนของสหรัฐฯ
ขณะที่โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศยังไม่แสดงความเห็นใดต่อรายงานข่าวนี้ ส่วนบีพี เชลล์ และบีจีกรุ๊ปก็ยังไม่สามารถติดต่อได้