เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นเผยวันนี้ (19) คนงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิเริ่มถ่ายน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีระดับสูงออกจากอาคารกังหันเตาปฏิกรณ์แล้วซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการฟื้นฟูระบบหล่อเย็น
แผ่นดินไหวรุนแรง และสึนามิครั้งใหญ่ที่ถล่มชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ทำให้ระบบไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิเสียหาย เป็นเหตุให้ระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน และก่อให้เกิดการระเบิดหลายครั้ง
คนงานโรงไฟฟ้าได้พยายามสูบน้ำทะเล และน้ำจืดหลายหมื่นตันเข้าไปในอาคารเตาปฏิกรณ์ เพื่อแช่แท่งเชื้อเพลิง เป็นความพยายามในการหลีกเลี่ยงหายนะทางนิวเคลียร์จากการหลอมละลาย แต่ก็สร้างน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจำนวนมหาศาล และบางส่วนก็รั่วไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว
สำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือเอ็นไอเอสเอเผยว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีระดับสูงราว 10,000 ตันจะถูกถ่ายเทออกจากอาคารกังหันเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ไปยังโรงบำบัดน้ำภายในโรงไฟฟ้าต่อไป
ขณะที่ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ โฆษกเอ็นไอเอสเอระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้นก็เพื่อกรอง และเอาเกลือออกจากน้ำ ที่ถ่ายไปไว้ในโรงบำบัดน้ำเสีย เพื่อที่จะสามารถนำน้ำเหล่านั้นกลับไปเทใส่แกนปฏิกรณ์ได้อีกครั้ง
การถ่ายน้ำปนเปื้อนรังสีออกจากเตาปฏิกรณ์มีความจำเป็น เพื่อที่จะเริ่มฟื้นฟูการทำงานของระบบหล่อเย็นในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึงคนงานพบว่ามีน้ำปนเปื้อนรังสีระดับสูงท่วมทั้งในอาคารกังหัน คูระบายน้ำ และอุโมงค์