เอเอฟพี - รัฐบาลซีเรีย ซึ่งถูกคลื่นมหาชนชุมนุมต่อต้านมาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่อประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แล้ววันนี้ (29) สถานีโทรทัศน์แห่งชาติซีเรียรายงาน ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมากก็รวมตัวชุมนุมใหญ่กลางกรุงดามัสกัส
ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ภายในครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สืบทอดอำนาจต่อจากบิดาเมื่อปี 2000 ทว่า ชาวซีเรียจำนวนหลายหมื่นคนยังคงหลั่งไหลไปสู่ท้องถนน ใจกลางกรุงดามัสกัส เมืองหลวงซีเรีย เพื่อแสดงพลังสนับสนุนในตัวประธานาธิบดี วันนี้
สถานีโทรทัศน์แห่งชาติซีเรียยังได้เผยแพร่ภาพผู้คนจำนวนมากออกมารวมตัวกันเต็มถนนในศูนย์ราชการเมืองต่างๆ พร้อมทั้งการประกาศลาออกของคณะรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงภายในได้เปิดเผยกับเอเอฟพี ว่า รัฐบาลอาจตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายในไม่กี่วัน อนึ่ง นายกรัฐมนตรีโมฮัมเหม็ด นาจิ โอตริ จัดตั้งรัฐบาลขึ้นเมื่อปี 2003 และมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2009
สถานการณ์ในซีเรียเข้าสู่ภาวะวิกฤตเรื่อยมา เมื่อคลื่นมหาชนจำนวนมหาศาลก่อการประท้วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม และเกิดเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีอัสซาด ตกอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จากข้อเรียกร้องขอเสรีภาพ และการปฏิรูปการเมืองของประชาชน
ทั้งนี้ คาดกัน ว่า บาชาร์ อัล-อัสซาดจะแถลงต่อชาวซีเรียในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อประกาศยกเลิกกฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่พรรคบาธ (Baath party) ขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 1963 รวบเวลาทั้งสิ้น 48 ปี
กลุ่มผู้ประท้วงส่วนใหญ่รวมตัวกันอยู่ที่ศูนย์ราชการเมืองดารา ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ตะเข็บชายแดนติดกับจอร์แดน และเมืองลาตาเกีย เมืองท่าทางตอนเหนือ โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวระบุ ว่า มีผู้ประท้วงมากกว่า 130 คนถูกสังหาร และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมากจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทางการซีเรียกล่าวหา ว่า แก๊งติดอาวุธกลุ่มต่างๆ และพวกมุสลิมคลั่งศาสนาหัวรุนแรง อยู่เบื้องหลังคอยยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ พร้อมทั้งยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตจริง ว่า มีเพียง 30 คนเท่านั้น
ด้านสถาณการณ์ในกรุงดามัสกัส เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธประจำกายปิดถนนทุกสายที่มุ่งหน้าสู่จัตุรัสซอเบห์ บาห์รัต ซึ่งประชาชนทั้งหญิง ชาย และเด็กๆ ชูธงชาติซีเรีย และรูปภาพของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด และฮาเฟซ อัล-อัสซาด บิดาของเขา
อนึ่ง กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินในซีเรียมีข้อบังคับเข้มงวด ตั้งแต่ห้ามการชุมนุม และเคลื่อนไหว ไปจนถึงขั้นให้อำนาจเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ในการจับกุมตัว “ผู้ต้องสงสัยหรือบุคคลที่อาจคุกคามความมั่นคงของประเทศ” ภายใต้กฏหมายฉบับดังกล่าว เจ้าหน้าที่ยังสามารถสืบสวนสอบสวน และแกะรอยการติดต่อสื่อสารบุคคลใดๆ ก็ได้ อีกทั้งเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบจากทางการก่อนเผยแพร่