เอเอฟพี - วิศวกรในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ สามารถเชื่อมต่อสายไฟเข้าไปยังหนึ่งในเตาปฏิกรณ์ที่มีปัญหา และกำลังพยายามกู้คืนไฟฟ้าของระบบหล่อเย็น เพื่อยับยั้งวิกฤตนิวเคลียร์ เจ้าหน้าที่ เปิดเผย วันนี้ (19)
เจ้าหน้าที่สามารถเดินสายไฟดังกล่าว เชื่อมต่อเข้ากับเตาปฏิกรณ์ปรมาณู หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะหมายเลข 1 ซึ่งบริษัทเทปโกกำลังพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิง หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ และคลื่นสึนามิถล่มเมืองชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ ภายในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะมีเตาปฏิกรณ์อยู่ทั้งหมด 6 หน่วย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวประมาณ 250 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนหน้านี้ เกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยภายในรัศมี 20 กิโลเมตร
"สายไฟเชื่อมต่อเข้ากับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 แล้ว แต่ตอนนี้เรายังไม่สามารถกู้ไฟฟ้าคืนมา" ฟูมิอากิ ฮายากาวะ โฆษกของสำนักความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่น แถลง
"หากมีการส่งกระแสไฟเข้าไป โดยไม่ผ่านการตรวจตราเสียก่อน อาจเกิดความเสียหาย ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบอยู่ หากวันนี้ (19) ยังไม่พบปัญหาอะไร คาดว่า พรุ่งนี้ (20) ไฟฟ้าของเตาหมายเลข 2 น่าจะกลับมาใช้ได้ในช่วงเช้า"
ทันทีที่สามารถกู้คืนไฟฟ้าได้ วิศวกรของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะต่างเฝ้าหวัง ว่า จะสามารถกู้คืนระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ โดยในระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่จะปล่อยและฉีดน้ำจากเฮลิคอปเตอร์ และรถดับเพลิง เพื่อควบคุมอุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงและเตาปฏิกรณ์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ว่า หากสามารถกู้ไฟฟ้าคืนมาได้ ระบบหล่อเย็นจะยังคงทำงานได้หรือไม่
"แม้ว่าเราทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว โชคร้ายที่เรายังไม่สามารถยืนยันได้ว่า เมื่อไรที่กระแสไฟฟ้าจะกลับคืนมา" เจ้าหน้าที่บริษัทเทปโก กล่าว
เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 ใช้สายไฟฟ้าร่วมกัน ดังนั้นในทางทฤษฎี หากสามารถกู้คืนไฟฟ้าได้ ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ทั้ง 2 หน่วยน่าจะกลับมาทำงาน
ทั้งนี้ เตาปฏิกรณ์ 4 จากทั้งหมด 6 หน่วยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ หมายเลข 1 - 4 ได้รับความเสียหาย และเสี่ยงต่อการปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมา หลังเกิดการระเบิด และไฟไหม้ขึ้นหลายครั้งในตัวอาคารเตาปฏิกรณ์
แผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 9.0 เมื่อวันศุกร์ (11) ที่แล้ว ซึ่งตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิ ได้ทำให้ระบบไฟฟ้า รวมทั้งเครื่องปั่นไฟสำรอง หยุดทำงาน จนทำให้ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ล้มเหลว กลายเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ที่คุกคามญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้