เอเอฟพี - นักวิชาการออสเตรเลียยกย่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางสื่อสารขณะเกิดภัยพิบัติ พร้อมทั้งชื่นชมคนจำนวนมากที่แสดงออกถึงมนุษยธรรมอันงดงามผ่าน เฟซบุ๊ก
กวีเน็ต โฮเวลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร เปิดเผยว่า กำลังศึกษาการใช้สื่อสังคมออนไลน์หลังเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ชปีที่แล้ว
โฮเวลล์ ซึ่งเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ ไม่คาดคิดมาก่อนว่าหลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้นจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติดตามมาอีกมากมาย ทั้งน้ำท่วมและไซโคลนในรัฐควีนส์แลนด์, ไฟป่าทางภาคตะวันตกของออสเตรเลีย, แรงสั่นสะเทือนครั้งที่ 2 ที่ไครสต์เชิร์ช จนมาถึงแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งเลวร้ายในญี่ปุ่น
โฮเวลล์เล่าว่า จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เปิดเพจในเฟซบุ๊ก เพื่อช่วยเหลือเหยื่ออุทกภัยในรัฐควีนส์แลนด์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอพบว่าในโลกเสมือนจริงเหล่านี้มี “สำนึกทางสังคม” ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน
“นั่นคือสิ่งที่ฉันประทับใจ มันเป็นการแสดงออกซึ่งมนุษยธรรมและความมีน้ำใจ รวมถึงความรู้สึกที่ว่า 'ถึงฉันจะไม่รู้จักคุณ แต่ฉันก็อยากช่วยคุณ' ” โฮเวลล์กล่าว
“หากนี่คือสิ่งที่เฟซบุ๊กและสื่อสังคมต่างๆ มอบให้แก่ประชาชนในยามทุกข์ยาก ฉันคิดว่ามันก็เป็นแหล่งข้อมูลที่วิเศษทีเดียว”
โฮเวลล์กำลังศึกษาว่า ผู้คนติดต่อสื่อสารกันทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในยามวิกฤตอย่างไร และสื่อเหล่านี้จะสามารถทำประโยชน์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่
ขณะเกิดอุทกภัยที่รัฐควีนส์แลนด์ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์กลายเป็นช่องทางระบุที่อยู่ของบุคคลซึ่งพลัดบ้านพลัดถิ่น ทำให้สัตว์เลี้ยงกับเจ้าของได้พบกัน ทั้งยังช่วยรายงานสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ประสบภัย จนเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับประชาชน
“คนจำนวนมากกลับรับรู้สถานการณ์ผ่านสื่อเหล่านี้ แทนที่จะเป็นสื่อกระแสหลัก”
แม้ขณะนี้วิกฤตแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นจะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ก็ยังถูกใช้เป็นสื่อแสดงความเสียใจ และส่งกำลังใจไปถึงผู้คนที่เดือดร้อน
“สำนึกชุมชนเหล่านี้เป็นสิ่งที่โดดเด่น และจำเป็นอย่างยิ่ง” โฮเวลล์ระบุ