เอเอฟพี - อินโดนีเซีย ประกาศวันนี้ (16) ว่า จะเดินหน้าโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ใกล้แนวรอยเลื่อนภูเขาไฟต่อไป ซึ่งมีกำหนดเริ่มในปี 2022 แม้เพิ่งเกิดมหันตภัยกัมมันตภาพรังสี หลังเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ ในญี่ปุ่น
“หากเราตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บนเกาะบังกา แน่นอนว่า ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ ด้าน ตามบรรทัดฐานความปลอดภัยของนานาชาติ” ฮูดี ฮัสโตโว หัวหน้าสำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งชาติอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ทั้งนี้ เกาะบังกา ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.1 ซึ่งก่อคลื่นสึนามิเมื่อปี 2004 คร่าชีวิตผู้เคราะห์ร้ายไปกว่า 220,000 ราย ในประเทศต่างๆ รอบมหาสมุทรอินเดีย เฉพาะในอินโดนีเซียประเทศเดียวมีผู้เสียชีวิต 168,000 คน
“มีบันทึกว่าพื้นที่เกาะบังกา เกิดแรงสั่นสะเทือน และการพ่นเถ้าถ่านของภูเขาไฟเป็นประจำ” ฮูดี ฮัสโตโว กล่าว พร้อมทั้งสำทับ ว่า ทางสำนักงานพลังงานปรมาณูอินโดนีเซียจะเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าสำนักงานพลังงานปรมาณูอินโดนีเซีย ระบุว่า “มันยังเร็วเกินไปที่จะถกกัน ว่า วิกฤตในญี่ปุ่นกระทบต่อโครงการของเรามากน้อยแค่ไหน … แต่ที่แน่นอน คือ ในปี 2022 เมื่อเริ่มสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราจะมีเทคโนโลยีที่สูงกว่าตอนนี้”
มหันตภัยทางธรรมชาติ ซึ่งอุบัติขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะของญี่ปุ่น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มออกมาแสดงความกังวลถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดที่ตั้งอยู่ในเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวทั่วโลก
อนึ่ง มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการพาณิชย์ 20 เปอร์เซนต์จากทั้งหมด 440 หน่วยทั่วโลก ตั้งอยู่ในเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว สมาคมนิวเคลียร์โลก (ดับเบิลยูเอ็นเอ) ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก 62 หน่วย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว และอีก 500 หน่วย อยู่ระหว่างการวางโครงการ โดยเฉพาะในประเทศที่มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด กลุ่มดับเบิลยูเอ็นเอ เผย