xs
xsm
sm
md
lg

ไฟไหม้ซ้ำ ณ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุระเบิด ณ เตาปฏิกรณ์หนึ่งที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเป็นแห่งที่ 1 เมื่อวันอังคาร(15)
เอเอฟพี - ไฟกระพือลุกไหม้ ณ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเป็นแห่งที่ 1 อีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันนี้ (16) แต่ล่าสุดรัฐบาลยืนยันว่าสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว

“เราได้แจ้งเหตุไปยังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและหน่วยดับเพลิงในทันที” โฆษกของโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เทปโก) บริษัทที่ได้รับสัมปทานดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในจังหวัดฟูกูชิมะกล่าว พร้อมระบุว่าคนงานรายหนึ่งยืนยันว่ามีควันพวยพุ่งออกมาจากหลังคาที่ครอบตัวเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4

อาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้เกิดระเบิดไปแล้วก่อนนี้เมื่อวันอังคาร (15) อันสร้างความเสียหายแก่หลังคาของตัวอาคาร อย่างไรก็ตาม ในเหตุเพลิงไหม้ล่าสุดยังไม่มีรายงานระบุถึงขอบเขตความเสียหายครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ในรายงานแยกกัน ทางรัฐบาลระบุว่าพบเห็นความเสียหายบางส่วนของคอนเทนเนอร์ครอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ของโรงงานฟูกูชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียว ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 250 กิโลเมตร

ญี่ปุ่นเร่งมืออย่างหนักในความพยายามหลบหลีกวิกฤตแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายตามหลังแผ่นดินไหวครั้งและสึนามิครั้งเลวร้าย ที่นำไปสู่การตัดกระแสไฟฟ้า ณ โรงงานและก่อความเสียหายแก่ระบบหล่อเย็น

เมื่อวันเสาร์ (12) แรงระเบิดก่อความเสียหายแก่อาคารครอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 แต่เตาปฏิกรณ์ยังอยู่ในสภาพมั่นคง ต่อมาเมื่อวันจันทร์ (14) ไม่นานหลังจากนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง บอกว่าโรงงานยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ก็ได้เกิดระเบิดขึ้นมาอีกครั้ง ณ เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย

ทั้งนี้ ในช่วงค่ำวันเดียวกันนั้นก็เกิดการระเบิดขึ้นในลักษณะคล้ายคลึงกับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 หลังจากระบบปั๊มหล่อเย็นชั่วคราวล้มเหลว อย่างไรก็ตาม โฆษกรัฐบาลระบุว่า ตัวแกนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ยังคงปลอดภัยดี และยังไม่ตรวจพบการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในระดับที่สูง

กระนั้นสถานการณ์ก็ยังไม่ผ่านพ้นวิกฤต เมื่อบรรดาเจ้าหน้าที่และวิศวกรยังต้องเร่งหาทางหยุดยั้งไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 3 เกิดการหลอมละลายจากความร้อนที่สูงเกินไป หรือที่เรียกว่าภาวะ “เมลต์ดาวน์ (Meltdown)” เพราะเมื่อถึงขั้นนั้นจะส่งผลให้สารกัมมันตรังสีแผ่กระจายออกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น