เอเอฟพี - ขณะไฟปฏิวัติของประชาชนยังคงเดินหน้าเขย่าขวัญระบอบการปกครองเผด็จการทั่วโลกอาหรับ ผู้หญิงมุสลิมได้แหวกม่านประเพณีนิยม และกฎเกณฑ์ข้อห้าม ด้วยการออกมาร่วมชุมนุม และกลายเป็นแรงขับสำคัญ ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการประท้วงไปสู่เป้าหมาย
“ผู้หญิงมี และยังคงมีบทบาทสำคัญในการลุกฮือ ปฏิวัติของประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ อะไรล่ะ คือปัจจัยที่ทำให้พวกเธอออกมาสู่ท้องถนน แสดงพลังของอิสตรี” นาดิม ฮูรี นักวิจัยอาวุโส จากองค์การฮิวแมนไรต์สวอตช์ กล่าว
“นั่นเป็นสัญญาณแห่งความหวัง” ฮูรี เปิดเผยกับเอเอฟพี “ตอนนี้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างการปกครอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์จากการปฏิวัติ”
ไม่ว่าจะสวมกางเกงยีนส์กับเสื้อยืด หรือชุดสีดำพร้อมผ้าโพกศีรษะของสตรีมุสลิม ผู้หญิงจำนวนหลายพันหลายหมื่นคนก็กลายเป็นปากเป็นเสียงของผู้ประท้วงในท้องถนน จากกรุงตูนิส สู่ กรุงไคโร จากกรุงมานามา (เมืองหลวงบาห์เรน) ถึง กรุงซานา (เมืองหลวงเยเมน) เพื่อร่วมเรียกร้องการปฏิวัติรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองประเทศมานานแสนนาน
เนื่องด้วยแรงบันดาลใจจากการโค่นล้ม ซิเน เอล อาบิดีน เบน อาลี ของตูนิเซีย ผู้หญิงชาวอียิปต์จำนวนมากยอมลำบาก ออกมารวมตัวกัน ณ จัตุรัสตอห์รีร์ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ เพื่อขับไล่ ฮอสนี มูบารัค ผู้ยอมลาออกเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ หลังครอบครองเก้าอี้ผู้นำมา 30 ปี
ในบาห์เรน มุสลิมชีอะห์ ได้ก่อการประท้วงเพื่อล้มการปกครองของมุสลิมสุหนี่ สตรีชาวบาห์เรนจำนวนมากก็ออกมาร่วมชุมนุม จนสามารถมองเห็นเป็นคลื่นสีดำจากชุดแต่งกายและผ้าโพกศีรษะของพวกเธอ นอกจากนั้น ยังมีการเรียกร้องต่อเนื่อง เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ
ส่วนในประเทศหัวอนุรักษ์อย่าง เยเมน และ ลิเบีย ผู้หญิงก็ก้าวข้ามขนบธรรมเนียมทางสังคม และเข้าร่วมกับการต่อต้าน อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเละห์ และ มูอัมมาร์ กัดดาฟี อีกทั้งมีการเดินขบวนของกลุ่มอิสตรีอย่างเปิดเผยกลางท้องถนน และให้สัมภาษณ์กับนักข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์สำนักต่างๆ
“เป้าหมายสำคัญของการปฏิวัติ คือ การโค่นล้มระบอบ แต่ก็มีผลพลอยได้ให้ล้มเลิกประเพณีโบราณ ซึ่งผูกมัดผู้หญิงเยเมนมานานว่า ผู้หญิงควรอยู่แต่ในบ้าน และห้ามยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก” ตาวักกุล คาร์มัน แกนนำกลุ่มผู้หญิง ซึ่งร่วมประท้วงในกรุงซานา กล่าว “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการปฏิวัติทางสังคมเช่นกัน บทบาทของผู้หญิงได้ช่วยสร้างสังคมใหม่ ขณะเดียวกันการปฏิวัติเยเมนได้ช่วยให้ผู้หญิงมีสถานภาพที่ดีขึ้น”