xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสูงสุด US ยินยอมให้จัดประท้วงต้านเกย์ในพิธีศพทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักศึกษาและผู้สนับสนุนชู้ป้ายประท้วงต่อต้านการกระทำของโบสถ์เวสต์โบโร เที่ยวตะลอนไปประท้วงตามงานศพของทหารที่ถูกฆ่าตายในอิรักหรืออัฟกานิสถาน เพื่อแสดงทัศนะทางศาสนาของพวกเขาที่ว่า พระเจ้ากำลังลงโทษอเมริกาจากการยินยอมอดทนอดกลั้นต่อชาวเกย์และชาวเลสเบียน
เอเจนซี/เอเอฟพี - ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ตัดสินเมื่อวันพุธ (2) ว่า การที่สมาชิกของโบสถ์คริสต์อนุรักษนิยมสุดโต่ง เที่ยวจัดการประท้วงต่อต้านเกย์ตามงานฝังศพของทหาร เพื่อป่าวประกาศทัศนะของพวกเขาที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าเกลียดชังอเมริกาที่อดกลั้นอดทนพฤติกรรมรักร่วมเพศนั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถกระทำได้ โดยถือเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นซึ่งรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ให้การคุ้มครอง

การตัดสินคดีนี้ของคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ ฝ่ายเสียงข้างมากชนะไปด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 และไม่สู้เป็นที่ประหลาดใจกันนักเนื่องจากเป็นการเดินตามรอยคำตัดสินในคดีจำนวนมากในอดีต ซึ่งศาลแห่งนี้จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามที่ระบุเอาไว้ใน บทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 1 (First Amenment) ของรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งพฤติกรรมแห่งการแสดงความคิดเห็นนั้นจะสร้างความโกรธเกรี้ยวหรือเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น การเผาธงชาติอเมริกัน

คำตัดสินนี้เป็นความพ่ายแพ้ของ อัลเบิร์ต สไนเดอร์ บิดาของทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯซึ่งถูกสังหารในอิรักในปี 2006 เขายื่นฟ้องร้องภายหลังที่พิธีศพบุตรชายที่ครอบครัวของเขาจัดขึ้นในโบสถ์คาทอลิกแห่งหนึ่งที่เมืองเวสต์มินสเตอร์ มลรัฐแมริแลนด์ ได้ถูกพวกสมาชิกของโบสถ์เวสต์โบโร แบปติสต์ ในเมืองโทเพกา มลรัฐแคนซัส ใช้เป็นเวทีประท้วง

พวกผู้ประท้วงเหล่านี้ถือป้ายเขียนข้อความว่า “พระเจ้าเกลียดคุณ”, “คุณกำลังจะลงนรก”, และ “ขอบคุณพระเจ้าที่ทหารต้องตาย” ทั้งนี้บุตรชายของสไนเดอร์ไม่ใช่เป็นพวกรักร่วมเพศด้วยซ้ำ

เฟรด เฟลป์ส นักเทศน์ของโบสถ์เวสต์โบโร ตลอดจนสมาชิกคนอื่นๆ ของโบสถ์แห่งนี้ เที่ยวตะลอนไปประท้วงตามงานศพของทหารที่ถูกฆ่าตายในอิรักหรืออัฟกานิสถานนับเป็นร้อยๆ งานแล้ว โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งการแสดงทัศนะทางศาสนาของพวกเขาที่ว่า พระเจ้ากำลังลงโทษอเมริกาจากการยินยอมอดทนอดกลั้นต่อชาวเกย์และชาวเลสเบียน

เฟลป์สก่อตั้งโบสถ์ของเขาขึ้นมาในปี 1955 และมีสมาชิกโบสถ์ราว 70 คน ส่วนใหญ่เป็นเครือญาติของเขานั่นเอง

ในคำตัดสินของศาลสูงสุดที่อ่านโดย จอห์น รอเบิร์ตส์ ประธานศาลสูงสุดและเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาฝ่ายเสียงข้างมากในคดีนี้ ระบุว่า ความเชื่อและแผ่นป้ายข้อความของโบสถ์แห่งนี้ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อถกเถียงต่างๆอันมีความสำคัญต่อสาธารณชน เป็นต้นว่า ประเด็นเรื่องความประพฤติทางการเมืองและทางศีลธรรมในสหรัฐฯ

คำตัดสินที่อ่านโดยรอเบิร์ตส์บอกว่า ประเทศชาติอาจจะไม่เห็นด้วยกับทัศนะของโบสถ์แห่งนี้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะแสดงปฏิกิริยาต่อความเจ็บปวดอันเกิดขึ้นจากผู้ประท้วงเหล่านี้ ด้วยการดำเนินการลงโทษผู้ที่แสดงความคิดเห็น

“ในฐานะของประเทศชาติ เราเลือกที่จะเดินในเส้นทางที่แตกต่างออกไป เลือกที่จะปกป้องคุ้มครองแม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็นในประเด็นปัญหาสาธารณะซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่มั่นใจว่าเราไม่ได้กำลังปิดปากไม่ให้มีการถกเถียงอภิปรายโดยสาธารณชน”

คำตัดสินที่อ่านโดยรอเบิร์ตส์กล่าวว่า พวกผู้ประท้วงเหล่านี้แสดงแผ่นป้ายของพวกเขาอย่างสงบเป็นเวลาราว 30 นาทีก่อนพิธีศพ, ร้องเพลงสวด และท่องข้อความจากคัมภีร์ไบเบิล พวกผู้ประท้วงเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปในอาคารของโบสถ์ หรือไปยังสุสาน และพวกเขาก็ไม่ได้ตะโกนหรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย

มีเพียงผู้พิพากษา ซามูเอล อาลิโต คนเดียวที่เป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินคราวนี้ เขาระบุว่า ผู้ประท้วงควรที่จะไปประท้วงยังทำเนียบขาว, รัฐสภาสหรัฐฯ, กระทรวงกลาโหม, หรือศาลสูงสุด มากกว่าจะไปก่อกวนงานศพที่จัดโดยครอบครัวผู้เสียชีวิต

“ความมุ่งมั่นผูกพันอันลึกซึ้งของชาติของเราต่อการอภิปรายถกเถียงอย่างเสรีและเปิดเผยนั้น ไม่ได้เป็นใบอนุญาตให้ดำเนินการทำร้ายทางวาจาอย่างโหดร้ายเฉกเช่นที่ได้เกิดขึ้นในคดีนี้” ผู้พิพากษาอาลิโตระบุในความเห็นข้างน้อยของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น