xs
xsm
sm
md
lg

ศาลภารตะตัดสิน “คดีมุสลิมเผารถไฟคุชราต” โทษตาย 11-จำคุกตลอดชีวิต 20

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวฮินดู 59 คนถูกเผาทั้งเป็นไปพร้อมกับตู้ขบวนรถไฟเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2002 หลังชาวมุสลิมก่อหวอดประท้วงชาวฮินดู ณ สถานีรถไฟโกธรา รัฐกุจราช (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - ศาลอินเดียพิพากษาผู้ต้องหา คดีวางเพลิงขบวนรถไฟรัฐคุชราต เมื่อปี 2002 ให้รับโทษประหารชีวิต 11 คน และจำคุกตลอดชีวิตอีก 20 คน วันนี้ (1) เหตุการณ์ครั้งนั้นเคยลุกลามเป็นชนวนความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวฮินดู กับชาวมุสลิม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากการแก้แค้นของชาวฮินดูราว 2,000 ราย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลได้ตัดสินว่า ชาวมสุลิมทั้ง 31 คน มีความผิดจริงฐานสมรู้ร่วมคิด และฆาตกรรม ในคดีวางเพลิงรถไฟ ณ สถานีโกธา ทางตะวันออกของรัฐคุชราต เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้แสวงบุญชาวฮินดูถูกเผาทั้งเป็น 59 ราย และกลายเป็นกระแสต่อต้านชาวมุสลิมขั้นรุนแรง

มวลชนฮินดูในหลายๆ เมืองของรัฐคุชราตได้ระบายความโกรธแค้นต่อชาวมุสลิมในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง ในช่วงวันแห่งการนองเลือดตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2002

ในขั้นต้น ผู้ต้องหาชาวมุสลิม 94 คน ได้ขึ้นศาลเมืองอาห์เมดาบัด และถูกควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2002 ทว่า ผู้พิพากษาพิจารณาปล่อยตัวไป 63 รายในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ความรับผิดชอบต่อเหตุเพลิงไหม้ตู้รถไฟเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดู และชาวมุสลิมในอินเดีย โดยการไต่สวนในชั้นศาลครั้งล่าสุดเห็นพ้องว่า เหตุเพลิงไหม้รถไฟดังกล่าวเป็นแผนร้ายของชาวมุสลิม

วันนี้ ตำรวจพิเศษเข้าประจำยังจุดต่างๆ ทั่วรัฐคุชราต เพื่อป้องกันเหตุรุนแรง หลังศาลพิพากษา ทว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานความไม่สงบเกิดขึ้น ด้านฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีคำสั่งห้ามสถานีโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ แพร่ภาพเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2002 เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดทางศาสนาที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอย

ในช่วงเหตุนองเลือดปี 2002 ณ เมืองอาห์เมดาบัด และเมืองอื่นๆ ของรัฐคุชราต พยานหลายต่อหลายปากให้การว่า ม็อบชาวฮินดูได้รุมทำร้ายชาวมุสลิม มีการข่มขืนผู้หญิง มีการเทน้ำมันก๊าดกรอกปากชาวมุสลิม ไม้เว้นแม้กระทั่งเด็ก ก่อนที่จะจุดไฟเผาพวกเขาทั้งเป็น เป็นการแก้แค้น

นาเรนดรา โมดี มุขมนตรีรัฐคุชราต ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคภารติยะ ชนตะ ปาร์ตี (บีเจพี) ของชาวฮินดู ถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้เกิดความไม่สงบขึ้น เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐคุชราต ซึ่งมีคำสั่งไม่ให้ยุ่งกับการตามล้างแค้นชาวมุสลิม โมดี ปฏิเสธข้อกล่าวดังกล่าวมาตลอด โดยเมื่อเดือนที่แล้ว คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้วิพากษ์เขาว่าเป็น “พวกหัวรุนแรง” ที่อยู่เบื้องหลังความไม่สงบ อย่างไรก็ตาม ทางการก็ไม่มีหลักฐานเอาผิดเขาได้

ส่วน ชาวมุสลิมก็ปฏิเสธการวางเพลิงเผารถไฟเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2002 โดยในวันนั้นมีการรวมตัวกันของมวลชนมุสลิมที่สถานีรถไฟโกธรา เพื่อประท้วงผู้โดยสารชาวฮินดูที่ชอบดูหมิ่นพนักงานรถไฟ และหาบเร่ชาวมุสลิม เหตุการณ์ประท้วงบานปลายจนเกิดเพลิงไหม้ตู้รถไฟดังกล่าว

นาเรนดรา โมดี พยายามต่อสู้ล้างข้อครหาที่ว่า เขาคอยบงการเหตุความไม่สงบในรัฐคุชราต แม้ว่าหลังเหตุเพลิงไหม้รถไฟ เขาได้อ้างกฎการเคลื่อนที่ของไอแซก นิวตัน ซึ่งระบุว่า “ทุกแรงกริยาย่อมมีแรงปฏิกริยาที่มีขนาดเท่ากันแต่ทิศทางตรงกันข้ามเสมอ” คำพูดของโมดีประโยคนี้ถูกตีความว่า เป็นการส่งสัญญาณสนับสนุนการแก้แค้นเข่นฆ่าชาวมุสลิม
นักเคลื่อนไหวชาวฮินดูร้องตะโกนขับไล่ชาวมุสลิม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2002 (แฟ้มภาพ)
ชาวฮินดูลุกฮือจับดาบเข้าประหัตประหารชาวมุสลิม เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2002 เพื่อแก้แค้นเหตุวางเพลิงรถไฟ ซึ่งชาวฮินดูถูกเผาทั้งเป็น 59 ราย (แฟ้มภาพ)
ตำรวจอินเดียยิงปืนเข้าใส่ฝูงชนที่กำลังบ้าคลั่ง (แฟ้มภาพ)
ศพของชาวมุสลิมวางเรียงราย หลังการแก้แค้นของชาวฮินดู (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น