xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯเผย “แหล่งค้าของเถื่อน” ทั่วโลก-“พันธุ์ทิพย์พลาซ่า” ก็ติดโผ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่าของไทย ติดโผรายชื่อแหล่งจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แหล่งใหญ่ของโลก จากการสำรวจโดยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ภาพ: www.pantipplaza.com)
เอเอฟพี - สหรัฐฯประกาศรายชื่อเว็บไซต์และตลาดค้าของเถื่อนทั่วโลก วานนี้ (28) เช่น “ไป่ตู้” (Baidu) เสิร์ชเอ็นจินชื่อดังของจีน, “ไพเรต เบย์” เว็บทอร์เรนต์ของสวีเดน รวมถึงศูนย์กลางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ของไทยด้วย

สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ระบุว่า เว็บไซต์ทั้ง 2 แห่ง และย่านการค้าอีกกว่า 20 แห่งทั่วโลก เช่น ซิลค์ มาร์เก็ต ในกรุงปักกิ่ง และ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในกรุงเทพมหานคร เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าปลอม หรือสินค้าที่ถูกขโมย ตั้งแต่ซอฟต์แวร์, ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ไปจนถึงการถ่ายทอดสดกีฬาต่างๆ

แม้ ยูเอสทีอาร์ จะยังไม่กำหนดบทลงโทษใดๆ แต่ก็เตือนว่า ผู้จำหน่ายสินค้าเหล่านี้จะถูกดำเนินคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และจะมีการเปิดเผยรายชื่อผู้ค้าในรายงานของแต่ละประเทศด้วย

“สหรัฐฯขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพิ่มความพยายามในการปราบปรามการขโมย หรือปลอมแปลงสินค้าในตลาดเหล่านี้ รวมถึงตลาดอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน” ยูเอสทีอาร์ ระบุ

แม้ ยูเอสทีอาร์ จะระบุเว็บไซต์และย่านการค้าจากหลายแห่งทั่วโลก แต่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในจีนมีจำนวนมากที่สุด

ไป่ตู้ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมอันดับ 6 ของโลกจากการสำรวจของ อเล็กซา อินเทอร์เน็ต จะช่วยค้นหา “ดีป ลิงก์” (deep link) ซึ่งจะนำไปสู่หน้าเวบสำหรับดาวน์โหลดได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านโฮมเพจของเว็บไซต์นั้นๆ ก่อน

ไคเซอร์ คั่ว โฆษกของไบดู ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับรายงานนี้

ไป่ตู้ ครองส่วนแบ่งในตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ กูเกิ้ล ปิดตัวเสิร์จเอ็นจินในจีน เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
ตัวอย่างหน้าเวบ เถาเป่า (Taobao) ของจีน
แหล่งค้าของเถื่อนในจีนซึ่งปรากฎอยู่ในรายชื่อของ ยูเอสทีอาร์ ยังได้แก่ เว็บขายสินค้าออนไลน์ เถาเป่า (Taobao), เว็บดูกีฬาย้อนหลัง ทีวีแอนท์ส, เว็บดาวน์โหลดโปรแกรมสำหรับสมาร์ทโฟน 91 ด็อต ดอม, ตลาดในเมืองอี้อู, เซินเจิ้น และ ปักกิ่ง, ศูนย์จำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ไห่หลง พีซี มอลล์ ในกรุงปักกิ่ง และศูนย์การค้า หยางผู่ อี๋เกา ในเมืองเซี่ยงไฮ้

จอห์น สเปลิช โฆษกของ อาลีบาบา กรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าของเว็บไซต์ เถาเป่า ระบุว่า ทางบริษัทจะ “ร่วมมือกับเจ้าของสินค้า เพื่อส่งเสริมให้ตลาดออนไลน์ของเรามีความน่าเชื่อถือและความซื่อสัตย์มากยิ่งขึ้น”

“เราขอขอบคุณที่ ยูเอสทีอาร์ ตระหนักถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของเราในการทำงานร่วมกับเจ้าของสินค้า เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขา”

ยูเอสทีอาร์ ยังระบุรายชื่อเวบบิตทอร์เรนต์ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ เช่น เพลง, วีดีโอ หรือหนังสือ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ได้แก่ เดอะ ไพเรต เบย์, ไอโซฮันต์, รูแทร็กเกอร์, ดีมีนอยด์ และ พับลิกบีที

สื่อสังคมออนไลน์ Vkontakte ของรัสเซียก็ถูกระบุว่า “เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เข้าถึงสื่อละเมิดลิขสิทธิ์” ์ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งค้าของเถื่อนอื่นๆใน เม็กซิโกซิตี, บัวโนสไอเรส, นิวเดลี, เคียฟ, จาการ์ตา, ฮ่องกง และ มะนิลา เป็นต้น

ยูเอสทีอาร์ ระบุว่า ระบบเศรษฐกิจของเมือง ชิอูดัด เดล เอสเต ของปารากวัย “ขึ้นอยู่กับการจำหน่ายสินค้าที่ถูกขโมยหรือละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์”

“กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายบริเวณชายแดนปารากวัย, อาร์เจนตินา และบราซิล ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นศูนย์กลางของการละเมิดลิขสิทธิ์และขโมยสินค้า”
กำลังโหลดความคิดเห็น