เอเอฟพี - รัฐบาลเกาหลีเหนือเพิ่มมาตรการปิดกั้นข่าวสารจากโลกภายนอก หลังกระแสโค่นล้มรัฐบาลแผ่ขยายไปทั่วโลกอาหรับ แหล่งข่าวและเจ้าหน้าที่ในเกาหลีใต้ ระบุ
กระนั้นก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ตระกูล คิม จะยังสามารถกุมอำนาจทางการเมืองที่สืบทอดมานานหลายทศวรรษเอาไว้ได้ ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวย เช่น ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และขาดสถาบันทางสังคมที่จะก่อตัวเป็นฝ่ายโค่นล้มรัฐบาล
“ดูเหมือนว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือจะกังวลเกี่ยวกับขบวนการประชาธิปไตยในตะวันออกกลางอย่างมาก พวกเขาจึงพยายามไม่ให้แนวคิดเช่นนั้นรั่วไหลเข้าไปยังเกาหลีเหนือ” สำนักข่าวยอนฮัป รายงานวันนี้ (24) โดยอ้างคำพูดเจ้าหน้าที่ในกรุงโซล
ในระยะนี้ เกาหลีเหนือยิ่งเพิ่มมาตรการควบคุมความนึกคิดของประชาชน และปิดกั้นข่าวสารจากนอกประเทศอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ซึ่งไม่ขอเอ่ยนามเผย
ฮุน อิน-แต๊ก รัฐมนตรีกระทรวงการรวมชาติเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวยอนฮัปสัปดาห์นี้ว่า เกาหลีเหนืออาจดำเนินการบางอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสการประท้วงแพร่กระจายถึงพลเมือง 24 ล้านคนในเกาหลีเหนือ
“ผมคิดว่า ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคงทราบสถานการณ์ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาจึงต้องหาทางปกป้องรัฐบาลไม่ให้ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน” ฮุน กล่าว
“ผมเชื่อว่า ชาวเกาหลีเหนือคงยังไม่ทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เพราะโทรทัศน์เกาหลีเหนือไม่รายงานข่าว และประชาชนก็ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ด้วย”
“เพราะฉะนั้น อิทธิพลของการประท้วงต่อชาวเกาหลีเหนือจึงยังไม่รุนแรง” ฮุน ระบุ
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เดลี เอ็นเค ในเกาหลีใต้ รายงานว่า รัฐบาลโสมแดงได้ตั้งกองกำลังตำรวจปราบจลาจลพิเศษขึ้น เพื่อเตรียมรับมือการประท้วงที่อาจเกิดขึ้นตามอย่างตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยตำรวจเหล่านี้มีหน้าที่ตรวจสอบหาสัญญาณความไม่สงบต่างๆ ตามคำสั่งของผู้นำ คิม จอง อิล
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เคยมีชาวเกาหลีเหนือกลุ่มย่อยๆออกมาประท้วงรัฐบาลเพราะความอดอยากหรือปัญหาอื่นๆอยู่บ้างเป็นระยะ หลังจากที่มีคนตายนับแสนระหว่างเกิดภัยแล้งในทศวรรษที่ 1990
กลุ่มสังคมสงเคราะห์สหรัฐฯออกมาเตือนเร็วๆ นี้ ว่า เกาหลีเหนือกำลังประสบภาวะอดอยากขั้นร้ายแรง ทำให้ประชาชนถึงกับต้องเข้าป่าไปเก็บพืชผักกินเป็นอาหาร
อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือก็สามารถอยู่รอดหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ได้ และนักวิเคราะห์รวมถึงผู้ลี้ภัยชาวโสมแดงเองก็มองว่า โอกาสที่จะเกิดการต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่เป็นไปได้ยาก
“ณ ปัจจุบันนี้ โอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติในเกาหลีเหนือยังเป็นไปได้น้อย เพราะรัฐบาลสามารถปิดกั้นข่าวสารจากภายนอกได้เบ็ดเสร็จ ซึ่งต่างจากอียิปต์ และลิเบีย” จาง จิน-เซียง ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ กล่าวระหว่างการเสวนาที่กรุงโซล
แม้รัฐบาลเกาหลีเหนือจะสามารถปิดกั้นอินเทอร์เน็ต และช่องทางสื่อสารกับโลกภายนอกอื่นๆ แต่ดีวีดีและโทรศัพท์มือถือที่มีผู้ลักลอบนำเข้าจากจีน ก็ช่วยทำลายปราการดังกล่าวได้บ้าง
ผลสำรวจโดยนักวิจัยสหรัฐฯซึ่งสอบถามผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ 1,600 คน พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งสามารถเข้าถึงข่าวต่างประเทศรวมถึงสื่อบันเทิงต่างๆ ได้ ซึ่งนับเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากทศวรรษที่ 1990
อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัย ระบุว่า เกาหลีเหนือยังขาดแคลนแรงงาน, องค์กรศาสนา หรือกลุ่มมวลชนอื่นๆ ที่อาจรวมตัวกันเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
“ผมไม่เห็นอะไรในประชาสังคมที่จะนำไปสู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่างในอียิปต์ได้เลย” สตีเฟน แฮกการ์ด นักวิจัยสหรัฐฯ กล่าวระหว่างรายงานผลการศึกษาที่กรุงวอชิงตัน เดือนที่แล้ว
เกาหลีเหนือ ติดตั้งระบบ 3จี เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2008 โดยความช่วยเหลือของบริษัทอียิปต์ แต่การเข้าถึงระบบดังกล่าวยังจำกัดอยู่ในกลุ่มพลเมือง 1-2 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเท่านั้น
เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่โทรทัศน์และวิทยุในเกาหลีเหนือจะมีตัวปรับสัญญาณเพื่อรับข้อมูลจากสถานีแห่งชาติ และหากชาวบ้านที่อยู่ใกล้ชายแดนพยายามฟังหรือชมรายการของเกาหลีใต้ ก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก
ยาง มู จิน จากมหาวิทยาลัยเกาหลีเหนือศึกษาในกรุงโซล กล่าวว่า “แทบไม่มีโอกาสเลยที่เกาหลีเหนือจะมีการประท้วงโค่นล้มรัฐบาลเหมือนในตะวันออกกลาง”
“ผมเชื่อว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือกำลังจับตามองกระแสโลกอย่างใกล้ชิด และสถานการณ์ในตะวันออกกลางคงมีผลทางจิตวิทยาต่อพวกเขาไม่น้อย ทำให้ต้องเข้มงวดกับประชาชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือไม่มีเครือข่ายทางสังคมที่จะแปรสภาพคำร้องทุกข์ไปเป็นขบวนการล้มล้างรัฐบาล และกองทัพซึ่งจงรักภักดีต่อระบอบ คิม ก็คงไม่ก่อการปฏิวัติอย่างแน่นอน”