เอเอฟพี - การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นทั่วไปในอิรัก ทำให้สถานะของสตรีและเยาวชนยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ แม้จะสิ้นสุดยุคนำเผด็จการ ซัดดัม ฮุสเซน ไปนานถึง 8 ปีแล้วก็ตาม องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ระบุ
รายงานจาก ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ซึ่งเผยแพร่วานนี้ (21) ระบุว่า สื่อมวลชนในอิรักถูกข่มขู่ และทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและนักการเมือง ส่วนบรรดานักโทษก็มักถูกทรมานให้รับสารภาพ
“วันนี้อิรักได้มาถึงทางแยก และจะต้องเลือกระหว่างกระบวนการที่ถูกต้องกับสิทธิมนุษยชน หรือการเปลี่ยนเป็นรัฐตำรวจ” โจ สต็อค รองผู้อำนวยการ ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง กล่าว
“8 ปีหลังการเข้ามาของสหรัฐฯ ชีวิตของผู้หญิงและเด็กในอิรักกลับย่ำแย่ลงกว่าเดิม แม้แต่สื่อมวลชนและนักโทษก็ถูกละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงด้วย”
ฮิวแมนไรต์ วอตช์ รายงานว่า ชาวอิรัก “ถูกล่วงละเมิดสิทธิ์โดยไม่ต้องรับการลงโทษ” และใครก็ตามที่พยายามเปิดโปงทหารหรือเจ้าหน้าที่ ก็เท่ากับเอาชีวิตไปเสี่ยง
ก่อนสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 สตรีอิรักเคยมีความปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองมากที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ทุกวันนี้สิทธิของผู้หญิงอิรักกลับลดลงอย่างน่าใจหาย
รายงานระบุว่า ผู้หญิงอิรักตกเป็นเป้าสังหารของกลุ่มทหารติดอาวุธ และยังต้องเผชิญความรุนแรงที่บ้าน ซึ่งถ้าใครพยายามขอความช่วยเหลือจากทางการ ก็จะยิ่งถูกทำร้ายมากขึ้น
สตรีอิรักยังตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นอีกด้วย ฮิวแมนไรต์ วอตช์ เผย
ส่วนกลุ่มคนชายขอบก็เผชิญชะตากรรมที่โหดร้ายไม่แพ้กัน เนื่องจากรัฐบาลอิรัก “ไม่ให้การดูแลพลเมืองที่ด้อยโอกาส เช่น คนพลัดถิ่น, ชนกลุ่มน้อย หรือผู้พิการ เป็นต้น”
ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ระบุว่า “เจ้าหน้าที่อิรักมักใช้วิธีทรมานนักโทษแบบไม่เลือกฝ่าย เพื่อบังคับให้รับสารภาพผิด” และเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีอิสระและเป็นกลาง เพื่อตรวจสอบการทรมานและปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อนักโทษ
สุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ก่อนที่นักการเมืองจะบรรลุข้อตกลงตั้งรัฐบาลได้ในอีก 9 เดือนให้หลัง มีส่วนทำให้การพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในอิรักต้องหยุดชะงักลง
รายงานดังกล่าวสรุปจากการสัมภาษณ์ชาวอิรัก 178 คนจากหลากหลายอาชีพใน 7 เมือง ซึ่งรวมถึงผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิด เมื่อเดือนเมษายน ปี 2010