xs
xsm
sm
md
lg

บางเรื่องราวเกี่ยวกับบุตรชายทั้ง 3 ของท่านผู้นำ‘คิมจองอิล’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ซันนี่ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Rocker Kim sets tongues wagging
By Sunny Lee
17/02/2011

บุตรชายคนที่ 2 ของ คิม จองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือ กลายเป็นข่าวฮือฮาพอสมควรในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อมีผู้พบเห็นเขาเข้าไปชมการแสดงคอนเสิร์ตของ อีริก แคลปตัน ที่สิงคโปร์ อันที่จริงแล้วเรื่องนี้ก็เป็นเพียงการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า เขาเป็นแฟนระดับฮาร์ดคอร์ของร็อกเกอร์ดาวค้างฟ้าชาวอังกฤษผู้นี้ แต่กระนั้น การปรากฏตัวของ คิม จองชุล ก็จุดชนวนให้เกิดการคาดเดากะเก็งกันอีกคำรบหนึ่ง ในประเด็นที่ว่าทำไมเขาจึงไม่ได้รับเลือกให้เป็นทายาทของ “ท่านผู้นำผู้เป็นที่รัก” โดยผู้ที่ได้รับความโปรดปรานกลับเป็น คิม จองอุน น้องชายแท้ๆ ของเขา ซึ่งเป็นผู้ที่โลกภายนอกรู้จักกันน้อยที่สุดในบรรดาบุตรชายทั้ง 3 ของท่านผู้นำ

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ขณะที่ฟูจิโมโตะอยู่ในเปียงยางเมื่อสิบกว่าปีก่อน สุขภาพของคิม จองอิลก็ไม่ค่อยดีแล้ว “ตอนที่ผมอยู่ในเกาหลีเหนือ คิม จองอิล ต้องกินยาชนิดต่างๆ มากกว่า 5 ขนานอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งยารักษาเบาหวานด้วย ผมยังจำได้ว่าคิม จองอิล จะบ่นพึมว่า ‘ฉันจะต้องกินพวกนี้ทั้งหมดไปจนตลอดชีวิตเลยหรือไง’ ในฐานะเป็นพ่อครัวผู้ปรุงอาหารให้คิม จองอิล รับประทาน ฟูจิโมโตะมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวคิม ในเรื่องอาหารที่ไม่สามารถทำให้ท่านผู้นำรับประทานได้

จากการที่เขารู้จักบุตรชายทั้ง 3 คนของคิม จองอิล เป็นการส่วนตัว ฟูจิโมโตะโต้แย้งความคิดเห็นของโลกภายนอกที่เข้าใจกันว่า เจ้าชายตระกูลคิมเหล่านี้พยายามแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันอยู่ เขาบอกว่า สำหรับ จองชุล นั้น “เขามีบุคลิกภาพเป็นคนอ่อน แม้กระทั่งเมื่อตอนที่เขายังอายุน้อย เขาก็ไม่เคยโมโหอะไรเมื่อน้องชายของเขาเป็นฝ่ายริเริ่มชักชวนให้ทำสิ่งต่างๆ เขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากเรื่องแบบนั้นเลย”

ในส่วนของ จองนัม พี่ชายคนโตสุด ฟูจิโมโตะบอกว่า “ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดหมายว่า เมื่อ จองนัม ขึ้นเป็นรัชทายาทแล้ว จองนัมก็จะถูกกำจัดทิ้ง ผมโต้แย้งไม่เห็นด้วยกับความคิดอย่างนี้มานมนานแล้ว มันไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องฆ่าเขา ในเมื่อเขาไม่ได้เกี่ยวข้องในการช่วงชิงอำนาจเพื่อที่ตัวเองจะได้กลายเป็นรัชทายาทเสียเอง” ฟูจิโมโตะเสนอแนะว่า เมื่อดูจากการที่ จองนัม พำนักอาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ เป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีทักษะทางด้านภาษา บุตรชายคนหัวปีผู้นี้จึงสามารถที่จะทำหน้าที่เป็นโฆษกในต่างแดนของ จองอุน

ถึงแม้ฟูจิโมโตะเชื่อว่า จองอุน มีความปรารถนาอยู่ลึกๆ ที่จะดำเนินการปฏิรูป แต่เขาก็ไม่คิดว่าเกาหลีเหนือภายใต้ จองอุน จะยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ “เขาจะไม่เอามือของเขาออกมาจากนุ้กอย่างง่ายๆ หรอก” เขาเขียนไว้เช่นนี้ พร้อมกับเสริมว่า จองอุน ได้รับมรดกจากบิดาของเขา ในเรื่องความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่า อาวุธนิวเคลียร์คือ “เครื่องมือสำหรับประคับประคองประเทศที่มีนามว่าเกาหลีเหนือ”

มีผู้สังเกตการณ์บางคนมองฟูจิโมโตะว่า เป็นผู้ที่ “เห็นอกเห็นใจ” เอนเอียงไปทาง คิม จองอุน มากเกินไป เพราะความผูกพันส่วนบุคคลที่ได้รับมาจากประสบการณ์อันพิเศษและหาได้ยากของเขากับครอบครัวคิม ขณะเดียวกัน คนอื่นๆ ก็มองว่าเขาแสดงความเอนเอียงเช่นนี้ด้วยความตั้งใจด้วยซ้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ครอบครัวคิมส่งคนมาลอบสังหารเขา เนื่องจากปากโป้งเปิดเผยสิ่งที่อาจจะถือได้ว่าเป็นความลับที่ได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างดีที่สุดในโลก

ทว่า คิม เคือนซิก (Kim Keun-sik) ศาสตราจารย์ด้านเกาหลีเหนือศึกษา แห่งมหาวิทยาลัย คยุงนัม (Kyungnam University) ในกรุงโซล ซึ่งเคยมีโอกาสเผชิญหน้ากับคิม จองอิลด้วยตนเองเมื่อปี 2007 ตอนที่ร่วมอยู่ในคณะผู้แทนไปร่วมการประชุมสุดยอดสองเกาหลี กลับแสดงการสนับสนุนฟูจิโมโตะอย่างเต็มที่ เขาบอกว่าหนังสือของฟูจิโมโตะแสดงให้เห็นภาพของคิม จองอุน อย่างชัดเจน ชนิด “ไม่ได้มองผ่านแว่นกรองแสง”

หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับ จองอุน อีกเล่มหนึ่ง ที่มีคุณค่าน่าอ่าน ได้แก่เรื่อง “Successor Kim Jong-eun” (ทายาท: คิม จองอุน) ของ ลี ยังจอง (Lee Young-jong) โดยส่วนใหญ่แล้ว หนังสือเล่มนี้ช่วยเสริม ไม่ใช่ขัดแย้ง ในประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในหนังสือของฟูจิโมโตะ ขณะที่หนังสือของฟูจิโมโตะพูดถึงการได้พบหน้าพบตา คิม จองอุน ด้วยตนเอง ก่อนที่เขาจะมีอายุ 20 ปี หนังสือของลีเน้นหนักพูดถึงเรื่องราวต่อจากนั้น

ลีเป็นนักหนังสือพิมพ์มากประสบการณ์ เขาเคยทำข่าวเกี่ยวกับเกาหลีเหนือมาเป็นเวลา 20 ปี โดยรายงานข่าวให้แก่หนังสือพิมพ์ จูงอัง อิลโบ (JoongAng Ilbo) ของเกาหลีใต้ ในหนังสือเล่มนี้ เขาเสนอภาพอันกระจ่างในเรื่องที่กลไกโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือมีการโปรโมต จองอุน อย่างระมัดระวังอย่างไร เพื่อให้สาธารณชนเกาหลีเหนือทราบว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นทายาท ขณะที่ยังคงปิดบังไม่เผยร่องรอยอะไรนักให้แก่โลกภายนอก จากหนังสือเล่มนี้ยังทำให้เราทราบด้วยว่า ลีมีแหล่งข่าวที่ทราบเรื่องลึกๆ จำนวนมากในแวดวงประชาคมด้านข่าวกรองของเกาหลีใต้

ตัวอย่างเช่น ลีพรรณนาถึงเรื่องราวที่ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Service หรือ NIS) อันเป็นองค์การสายลับแห่งสำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ ใช้วิธีการอย่างไรในการแจ้งให้สาธารณชนทราบข้อมูลที่ว่า คิม จองอิล ได้รับเลือกเป็นการภายในแล้วให้เป็นทายาทผู้สืบตำแหน่งผู้นำเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ ณ เวลาบ่าย 3 โมง ของวันที่ 1 มิถุนายน 2009 เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน NIS ที่มีชื่อว่า ชอย จองเฮือป (Choi Jong-heup) ได้โทรศัพท์ไปถึงพวกสมาชิกรัฐสภาที่เป็นสมาชิกอยู่ในคณะกรรมาธิการข่าวกรอง เพื่อบอกให้ทราบว่า เกาหลีเหนือเพิ่งส่งหนังสือเวียนไปถึงคณะทูตานุทูตของตนในต่างประเทศ แจ้งว่า “คิม จองอุนได้รับการตัดสินเป็นการภายในแล้ว ให้เป็นทายาทของคิม จองอิล”

อีกไม่กี่วันต่อมา คือในวันที่ 8 มิถุนายน คณะเจ้าหน้าที่จากเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องกิจการเกาหลีเหนือ ได้จัดการประชุมลับขึ้นที่กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ คิมเขียนเอาไว้เช่นนี้ “ในการประชุมดังกล่าว พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของทั้งสองประเทศต่างยืนยันว่า คิม จองอิล ได้มอบตำแหน่ง ‘สหายผู้ฉลาดหลักแหลม’ (wise comrade) ให้แก่คิม จองอุน” ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ตีความว่า นี่เป็นสัญญาณอีกประการหนึ่งที่บ่งบอกว่า เกาหลีเหนือได้ตัดสินใจที่จะเริ่มกระบวนการทำให้คิม จองอุน กลายเป็นเทพ ด้วยการสลักเสลาภาพลักษณ์ดังกล่าวขึ้นมาให้เป็นรัศมีรอบๆ ตัวเขา

ลีมีทัศนะที่แตกต่างไปจากฟูจิโมโตะในประเด็นใหญ่ๆ อยู่เหมือนกัน เป็นต้นว่า เขามองว่า การที่คิม จองอิล เลือกบุตรชายคนสุดท้องมาเป็นทายาทนั้น เป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้เอง ภายหลังที่ผู้นำโสมแดงผู้นี้ป่วยหนักด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตกเมื่อช่วงฤดูร้อนปี 2008 ไม่ใช่ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นหลายปีแล้วดังที่ฟูจิโมโตะกล่าวไว้ “หลังจากผ่านพ้นประสบการณ์ความเจ็บป่วยอันแสนสาหัสในปี 2008 ซึ่งเขาจวนเจียนจะเสียชีวิตทีเดียวนั้น คิม จองอิล ก็ได้หันสายตาของเขายังยังบุตรชายคนที่สาม ซึ่งก็คือ คิม จองอุน” ลีเขียนเอาไว้เช่นนี้ในหนังสือ

ลีซึ่งอ้างอิงแหล่งข่าวทางด้านข่าวกรองหลายๆ ราย ได้บรรยายถึงการเสียชีวิตอย่างลึกลับของ รี เจกัง (Ri Je-gang) รองผู้อำนวยการอาวุโสของทบวงองค์การจัดตั้งและชี้แนะ(Organization and Guidance Department) อีกทั้งเป็นคนสนิทผู้ใกล้ชิดของคิม จองอิล บุคคลผู้นี้เสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์อันน่าสงสัยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2010 ลีอธิบายให้ผู้อ่านทราบว่า ถือเป็น “เรื่องสามัญธรรมดา” ในแวดวงคณะผู้นำของเกาหลีเหนือ ที่จะใช้เรื่องอุบัติเหตุทางรถยนต์มาเป็นข้อแก้ตัวอันแสนสะดวกในเวลาทำการกำจัดพวกปรปักษ์ทางการเมือง

เขาเชื่อมโยงเหตุการณ์นี้เข้ากับความสงสัยข้องใจของหลายๆ ฝ่ายที่ว่า แท้จริงแล้วรีน่าจะเป็นเหยื่อของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจอันเกี่ยวข้องกับเรื่องการแต่งตั้งทายาท ลียังได้หยิบยกรายละเอียดเพิ่มเติมที่ทำให้ข้อสันนิษฐานนี้ดูน่าเชื่อถือขึ้นไปอีก เป็นต้นว่า ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานศพให้แก่รี ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงอยู่ว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสมาก และตามธรรมดาแล้วในวาระแบบนี้ เกาหลีเหนือจะต้องตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมา

ลีอุทิศเนื้อที่จำนวนมากให้แก่เรื่องการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ของบุตรชายทั้ง 3 ซึ่งเรื่องราวเช่นนี้ขาดหายไปในหนังสือของฟูจิโมโตะ

ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน 2009 กลุ่มสายลับพิเศษกลุ่มหนึ่งจากกลไกด้านความมั่นคงแห่งชาติ ได้ยกกำลังบุกเข้าไปในวิลลาหรูหราบริเวณนอกเมืองเปียงยางแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า วู อัม กัก (Wu Am Gak) วิลล่าแห่งนี้สงวนไว้ให้เฉพาะครอบครัวคิมใช้กัน และเป็นสถานที่โปรดปรานแห่งหนึ่งของ จองนัม ทั้งนี้ในตอนที่เจ้าหน้าที่บุกเข้าไป เขากำลังจัดงานเลี้ยงลับๆ โดยผู้ที่ได้รับเชิญมีแต่ผู้ร่วมงานระดับใกล้ชิด

พอสายลับเหล่านี้บุกเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวได้ ปรากฏว่าตัว จองนัม ไม่ได้อยู่ที่นั่น เรื่องนี้บางทีอาจกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เขารักษาชีวิตตัวเองเอาไว้ได้ “น่าประหลาดใจมาก บุคคลผู้ออกคำสั่งให้บุกเข้าไปคือ คิม จองอุน น้องชายของคิม จองนัม” ลีบอก พร้อมกับกล่าวต่อไปอีกว่า ความเคลื่อนไหวคราวนี้ เป็นยุทธวิธี “เคลื่อนทัพบุกเข้าโจมตีก่อน” ของ จองอุน เพื่อกำจัดคู่แข่งของเขา

หนังสือเล่มนี้ของลี ตีพิมพ์ขึ้นมาก่อนหน้าที่ จองอิล จะได้ออกงานครั้งปฐมฤกษ์ในฐานะทายาท เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว จากการที่ลีสามารถทำนายได้ย่างแม่นยำว่า จองอุนจะเป็นผู้ได้รับคัดเลือก ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นพวกนักวิเคราะห์ยังมีความคิดเห็นขัดแย้งไปกันคนละทิศละทาง เรื่องนี้ทำให้หนังสือของเขาได้รับการต้อนรับป็นอย่างดีในเกาหลีใต้

ซันนี่ ลี (sleethenational@gmail.com) เป็นคอลัมนิสต์และนักหนังสือพิมพ์ที่กำเนิดในกรุงโซล เขาได้รับปริญญาหลายใบทีเดียวจากสหรัฐฯและจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น