xs
xsm
sm
md
lg

สาวญี่ปุ่นกับการให้ “ช็อกโกแลต” วันวาเลนไทน์ที่เปลี่ยนไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - นับตั้งแต่วันวาเลนไทน์บุกแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อ 40 ปีที่แล้ว การฉลองเทศกาลแห่งความรักในญี่ปุ่น ที่ผิดเพี้ยนเรื่อยมา นอกจากผู้หญิงจะเป็นฝ่ายมอบช็อกโกแลตและของขวัญให้ผู้ชายแล้ว ยังต้องให้เจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน ไหนจะคนรักและคู่ชีวิต แทนที่จะเป็นฝ่ายได้รับจากผู้ชาย
ช็อกโกแลตรูปแบบใหม่ต้อนรับวันวาเลนไทน์ของญี่ปุ่น
ทว่า ปัจจุบันผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากเลิกคุยกันเรื่องกามเทพแผลงศรในวันวาเลนไทน์ แต่หันมาแลกช็อกโกแลตที่ทำขึ้นเอง หรือเลือกซื้อมาอย่างพิถีพิถันกับเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน

“ฉันจะไปซื้อช็อกโกแลตชั้นดี กับแก๊งเพื่อนซี้ เพื่อร่วมสนุกกับวาเลนไทน์ด้วยกัน” อาอิ ชิบาตะ สาวญี่ปุ่น 26 ปี กล่าว เธอทำงานให้กับบริษัทโฆษณา และกำลังซื้อช็อกโกแลตให้ทั้งตัวเอง และเพื่อนร่วมงานที่สถานีรถไฟใต้อันจอแจ กลางกรุงโตเกียว

เด็กสาววัยรุ่น และผู้หญิงญี่ปุ่นในช่วงวัย 20 ปีเกือบ 3 ใน 4 ต่างวางแผนที่จะให้ “โทโมะ ช็อกโก” หรือ ช็อกโกแลต เฟรนด์ชิป กับเพื่อนผู้หญิงในวันวาเลนไทน์ โดยมีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ที่เตรียมมอบช็อกโกแลตให้กับผู้ชาย เพื่อบอกรัก ผลสำรวจของบริษัท เอซากิ กูลิโกะ ระบุ

ห้างร้านส่วนใหญ่ก็เกาะกระแสวาเลนไทน์ โดยจัดโปรโมชันพิเศษต้อนรับวันแห่งความรัก ด้วย “เกิร์ลส์ คอลเลกชันส์” ซึ่งมีช็อกโกแลตหน้าตาน่ารักสีสันสดใส บางชนิดรูปร่างเหมือนดอกไม้ หรือ กระต่าย เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับ เหล่าสาวๆ ที่กำลังมองหาช็อกโกแลตให้ผู้หญิงด้วยกัน

นักวิจารณ์สังคมในญี่ปุ่นเสนอเหตุผลต่างๆ นานาถึงกระแสดังกล่าว รวมทั้งคำอธิบายแบบกำปั้นทุบดิน ว่า ผู้หญิงด้วยกันเองน่าจะทราบซึ้งในของขวัญที่ได้รับมากกว่าผู้ชาย จากการหาซื้อช็อกโกแลตที่เลือกอย่างพิถีพิถันหรือทำเองกับมืออย่างประณีต

ทว่า มีเสียงวิจารณ์ไปอีกทาง ว่า มีปัจจัยทางสังคมที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น อาทิ ผู้หญิงสนใจผู้ชาย ในฐานะคู่รักโรแมนติกน้อยลง เนื่องจากผู้หญิงญี่ปุ่นเริ่มตระหนัก ว่า ผู้ชายแดนปลาดิบขาดความเป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งเหตุผลเดียวกันนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดต่ำ
ผู้หญิงญี่ปุ่นจำเป็นต้องมอบช็อกโกแลตให้กับเพื่อนชาย เพื่อนร่วมงาน หรือ เจ้านาย เป็นมารยาททางสังคม
“ผู้ชายญี่ปุ่นไร้เสน่ห์สำหรับผู้หญิงอีกต่อไป” โทโมโกะ อินุกาอิ นักวิเคราะห์วิจารณ์กระแสสังคม กล่าว

เทตซูยะ นันกะ โฆษกบริษัท เอซากิ กูลิโกะ กลับมองว่า การตีความหมายการให้ช็อกโกแลตระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงในลักษณะนั้น ดูจะเกินเลยความเป็นจริงไปมาก

“ขนมหวานเป็นกลวิธีในการสื่อสาร สร้างอารมณ์ และความสุขในเทศกาลเสมอ วันวาเลนไทน์กลายเป็นวันเฉลิมฉลองสิ่งนั้น” นันกะ กล่าว “ไม่ใช่ว่า ผู้หญิงไม่อยากให้ช็อกโกแลตกับผู้ชายอีกต่อไป แต่พวกเธอแค่มอบมันให้กับคนอื่นๆ ด้วยเท่านั้น”

ในอดีต ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากนิยมให้ช็อกโกแลตที่เรียกว่า “กิริ ช็อกโก” หรือ ช็อกโกแลตที่ให้ตามมารยาท เป็นของขวัญสำหรับเพื่อนร่วมงานผู้ชาย หรือเจ้านาย

ขณะที่คาดกันว่าผู้ชายควรจะมอบช็อกโกแลตตอบแทนผู้หญิงในวันที่ 14 มีนาคม หรือ “วันไวต์ เดย์” ของญี่ปุ่น แต่ฝ่ายผู้หญิงมักบ่นกันว่า วันดังกล่าวไม่เป็นสากลเท่ากับการให้ช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์

อาอิ ชิบาตะ พนักงานสาวบริษัทโฆษณารายนี้กล่าว ว่า เธอจำเป็นต้องซื้อช็อกโกแลตให้กับเพื่อนร่วมงาน แต่ก็มีแผนที่จะทำช็อกโกแลตให้กับแฟนหนุ่มด้วยตัวเอง “ช็อกโกแลตทำเองหมายถึงราคาที่ถูกกว่า ซึ่งมันเป็นเรื่องดี แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องความรู้สึก ที่สำคัญมากกว่าคุณภาพหรือราคาของช็อกโกแลต”
กำลังโหลดความคิดเห็น