xs
xsm
sm
md
lg

ชาวแอลจีเรียนับพันชุมนุมไล่ ปธน.บูเตฟลิกา ตามอย่างตูนิเซีย-อียิปต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวแอลจีเรียราว 2,000 คนรวมตัวประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี อับเดลอาซิส บูเตฟลิกา ในกรุงแอลเจียร์ วานนี้(12)
เอเอฟพี - ความรุนแรงทางการเมืองในทวีปแอฟริกา ยังไม่ยุติ เมื่อชาวแอลจีเรียกว่า 2,000 คน พยายามฝ่าด่านตำรวจเพื่อไปรวมตัวประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี อับเดลอาซิส บูเตฟลิกา บริเวณจัตุรัสแอลเจียร์วานนี้ (12) หลังจากที่ผู้นำตูนีเซียและอียิปต์ถูกโค่นอำนาจลงโดยประชาชน

ผู้ประท้วงต่างชูป้ายประณามระบอบการปกครอง และร้องตะโกนคำขวัญที่หยิบยืมมาจากการประท้วงในตูนิสและไคโร อย่างไรก็ตาม ตำรวจปราบจลาจลนับหมื่นนาย ซึ่งมีทั้งอาวุธปืนอัตโนมัติ, กระบอง และโล่ ก็สามารถกันไม่ให้ประชาชนเดินขบวนจากจัตุรัส 1 พฤษภาคม ไปถึงจัตุรัสมาร์เทอร์สได้สำเร็จ

กลุ่มผู้ประท้วงยังรวมถึง สะอีด ไซดี หัวหน้ากลุ่มรณรงค์ส่งเสริมวัฒนธรรมและประชาธิปไตย(RCD) และ อาลี เบลฮัดญ์ อดีตผู้นำกลุ่มอิสลามิสต์ แซลเวชั่น ฟรอนต์ ซึ่งถูกสั่งห้ามลงเล่นการเมือง

ตั้งแต่เช้าวานนี้ (12) ตำรวจปราบจลาจลเกือบ 30,000 นาย ถูกส่งไปประจำการตลอดแนวถนนซึ่งผู้ประท้วงจะเดินผ่าน และมีการนำรถหุ้มเกราะรวมถึงปืนฉีดน้ำไปติดตั้งใกล้กับจุดเริ่มขบวนด้วย

กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า มีประชาชนถูกจับกุม 14 คน ซึ่งภายหลังได้ปล่อยตัวไป

อย่างไรก็ตาม มุสตาฟา บูชาชี หัวหน้ากลุ่มสันนิบาตแอลจีเรียเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน(LADDH) กล่าวว่า มีประชาชนถูกจับมากถึง 300 คนในกรุงแอลเจียร์, โอราน และ แอนนาบา

ใน กรุงแอลเจียร์ กลุ่มคนหนุ่มสาว 40 คน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับผู้ประท้วงได้ออกมาให้การสนับสนุนประธานาธิบดี บูเตฟลิกา

“บูเตฟลิกา ไม่ใช่ มูบารัค” กลุ่มเยาวชนดังกล่าวร้องตะโกน

การเดินขบวนถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในแอลจีเรีย หลังเกิดการประท้วงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคนในปี 2001

บูเตฟลิกา ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 1999 จากนั้นได้รับเลือกเป็นครั้งที่ 2 และ 3 ในปี 2004 และ 2009 ตามลำดับ และยังแก้ไขรัฐธรรมนูญให้บุคคลสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่จำกัดสมัย
กำลังโหลดความคิดเห็น