xs
xsm
sm
md
lg

360 องศา: วัฒนธรรมบ้างานรุมเร้าชาวกิมจิ ฉุดประสิทธิภาพผลิต-อัตราเกิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แสงไฟสว่างไสวในยามค่ำคืนตามออฟฟิศต่างๆ ของเกาหลีใต้ ประเทศที่วัฒนธรรมบ้างานกำลังบั่นทอนประสิทธิภาพการผลิตและอัตราการเกิด
เอเอฟพี – สองทุ่มกว่าแล้ว แต่แสงไฟในอาคารสำนักงานต่างๆ ในย่านธุรกิจกลางกรุงโซลยังคงสว่างไสว

การทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็นอาจฟังดูน่าเบื่อสำหรับคนในประเทศอื่นๆ แต่สำหรับพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ นั่นคือความฝันอันแสนไกล ทั้งที่เวลาทำงานปกติก็ปาเข้าไปวันละ 10 ชั่วโมงแล้ว มิหนำซ้ำการทำงานล่วงเวลายังไม่มีค่าตอบแทนใดๆ

“ผมทำงานเกินเวลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน” พนักงานวัย 30 ปีที่บอกให้เรียกตัวเองสั้นๆ ว่า “ลี”บอก

บริษัทของเขาเหมือนกับบริษัทส่วนใหญ่ในแดนกิมจิที่ไม่มีการจ่ายโอที แต่พนักงานยังต้องทำงานหลังเลิกงานอย่างน้อย 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง และบางครั้งนานกว่านั้น

ในประเทศที่ช่วยเหลือตัวเองให้หลุดพ้นจากความยากจนหฤโหดช่วงหลังสงครามสู่ความมั่งคั่ง บางคนรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ทางใจให้ต้องทำงานยาวนานขึ้น หลายคนกลัวว่าถ้าออกจากออฟฟิศก่อนเจ้านาย โอกาสเลื่อนตำแหน่งจะหดหายไปด้วย

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด คนเกาหลีใต้ทำงานนานกว่าคนประเทศอื่นๆ ที่เป็นชาติสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ด้วยกันโดยมีเวลาทำงานเฉลี่ย 2,243 ชั่วโมงต่อปี หรือ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมากกว่าคนญี่ปุ่นและเยอรมนี 500 ชั่วโมงและ 900 ชั่วโมงต่อปีตามลำดับ

กระนั้น ข้อมูลจากโออีซีดีเช่นเดียวกัน กลับระบุว่า ในแง่ประสิทธิภาพการผลิตของทุกภาคอุตสาหกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับชั่วโมงการทำงาน เกาหลีใต้กลับอยู่อันดับ 3 จากด้านท้ายของตารางที่มีทั้งหมด 30 ชาติ

กระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ระบุว่า ชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงจะช่วยยกระดับไลฟ์สไตล์และประสิทธิภาพการผลิต แต่ก็ยอมรับว่า ทัศนคติที่หยั่งรากลึกนั้น การเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้เวลา

“เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังมีช่องทางมากมายในการเติบโต ขณะที่ประชาชนมีคุณสมบัติพิเศษในด้านการต่อสู้และทำงานให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ปัจจัยสองอย่างนี้ทำให้วัฒนธรรมการทำงานเกินเวลาเป็นสิ่งพิเศษที่มีเฉพาะเกาหลีใต้” ยางยุน ศาสตราจารย์จิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสตรีอีวา ระบุ

พนักงานส่วนใหญ่ไม่ปริปากเรื่องเวลาทำงานยาวเหยียด “การทำงานเกินเวลาเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ส่วนใหญ่ผมทำงานต่อหลังเลิกงานเพื่อทำรายงานหรืองานของวันนั้นให้เสร็จ” ชิน พนักงานวัย 29 ปีของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งบอก

บางครั้งเป็นเพราะลำดับชั้นการบังคับบัญชา และความคิดที่ว่าการทำงานเกินเวลาเป็นสิ่งถูกต้อง ที่ทำให้พนักงานระดับล่างต้องนั่งหลังขดหลังแข็งต่อยามค่ำ

“คนรุ่นก่อนที่สร้างความรุ่งโรจน์ให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เคยชินกับการทำงานเกินเวลาเหมือนเช่นคนญี่ปุ่นในทศวรรษ 1970” ศาสตราจารย์หยางเสริม

“ถ้าเจ้านายยังนั่งทำงานอยู่ คงยากที่ลูกน้องอย่างเราจะเดินออกจากออฟฟิศได้แม้เลิกงานแล้ว

“เจ้านายมักสั่งงานก่อนเลิกงานไม่นาน หรือไม่ก็ถามง่ายๆ ว่าจะรีบร้อนกลับไปไหน?” คิม วัย 29 สำทับและว่าบรรยากาศการทำงานที่เหนี่ยวรั้งนี้ทำให้พนักงานจำใจต้องนั่งอยู่กับโต๊ะหลังเลิกงาน

ปี 2004 กระทรวงแรงงานแถลงนโยบายให้บริษัทต่างๆ ที่มีพนักงานเกิน 1,000 คนทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และหลังจากนั้นได้ขยายผลไปถึงบริษัทขนาดเล็กลง

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว กระทรวงฯ แถลงเพิ่มเติมว่านโยบายดังกล่าวจะใช้กับบริษัทที่มีพนักงานต่ำกว่า 20 คนนับจากเดือนกรกฎาคมที่จะถึง ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมบริษัทราว 300,000 แห่ง และพนักงาน 2 ล้านคน

โจวอนชิก เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ อธิบายว่าแม้เกาหลีใต้มีชั่วโมงทำงานยาวนานที่สุดในโออีซีดี แต่หากมีการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง คาดว่าคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพของพนักงานจะเพิ่มขึ้น

หวังกันด้วยว่า นโยบายนี้ยังอาจช่วยเพิ่มอัตราเกิดที่ลดลงเรื้อรังของเกาหลีใต้

เดือนมกราคม 2010 กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่าจะปิดไฟสำนักงานเวลา 19.30 น. เดือนละครั้งเพื่อส่งเสริมให้พนักงานกลับบ้านเร็วขึ้น และส่งเสริมการมีบุตร

ศาสตราจารย์หยางมองแง่ดีว่า วันหนึ่งวัฒนธรรมบ้างานจะสิ้นสุดลง

“เมื่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขึ้นถึงจุดสูงสุด และเมื่อคนหนุ่มสาวในขณะนี้เข้ารับตำแหน่งสำคัญในบริษัทต่างๆ วัฒนธรรมบ้างานอาจหายไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น