เอเจนซีส์ - นักการทูตสหรัฐฯวิตกกังวลว่า ซาอุดีอาระเบียอาจไม่มีน้ำมันดิบสำรองมากพอที่จะพยุงราคาน้ำมันไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามที่กล่าวอ้าง โทรเลขของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯซึ่งวิกิลีกส์เผยแพร่วานนี้(9)ระบุ
โทรเลขของสถานทูตสหรัฐฯในกรุงริยาดเมื่อปี 2007เรียกร้องให้วอชิงตันฟังคำเตือนของอดีตผู้บริหารบริษัทผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียที่ว่า รัฐบาลซาอุฯประกาศปริมาณน้ำมันสำรองเกินความเป็นจริงถึง 40 เปอร์เซ็นต์
นักการทูตสหรัฐฯรายงานว่า ซาดัด อัล-ฮุสเซนี อดีตหัวหน้าฝ่ายสำรวจปิโตรเลียมของบริษัทอะแรมโก ซึ่งผูกขาดการผลิตน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย “ไม่เห็นด้วย” กับผลวิเคราะห์ของบริษัทที่ว่า ประเทศยังมีน้ำมันสำรองถึง 7.16แสนล้านบาร์เรล และจะเพิ่มเป็น 9แสนล้านบาร์เรลในอีก 20 ปีข้างหน้า
“ฮุสเซนี เชื่อว่า ตัวเลขน้ำมันสำรองที่อะแรมโกประกาศสูงเกินจริงถึง 3 แสนล้านบาร์เรล” โทรเลขดังกล่าว ระบุ
ฮุสเซนี ทำนายว่า “ซาอุดีอาระเบียจะสามารถผลิตน้ำมันต่อไปได้อีกราว 15 ปี” ซึ่งหมายความว่าหลังปี 2020 ไปแล้ว “กำลังการผลิตจะลดลงอย่างต่อเนื่องแน่นอน โดยไม่มีอะไรมาป้องกันได้”
การประเมินของ ฮุสเซนี มีพื้นฐานจากเป้าหมายของซาอุดีอาระเบียที่ต้องการขยายกำลังการผลิตให้ได้ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2009 ซึ่งนักวิจารณ์ด้านอุตสาหกรรมระบุว่า ซาอุดีอาระเบียยังทำไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และขีดความสามารถของโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกที่มีอยู่จำกัด
องค์การข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานของสหรัฐฯ รายงานว่า ปีที่แล้วซาอุดีระเบียผลิตน้ำมันได้วันละ 8.4 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 1.8 ล้านบาร์เรล แต่สามารถส่งออกได้น้อยลง เนื่องจากความต้องการพลังงานภายในประเทศสูงขึ้น
เมื่ออุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ฮุสเซนี มองว่า “ข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตในระยะยาวจะทำให้อุปสงค์ค่อยๆเพิ่มแซงหน้าอุปทาน จนทำให้ราคาขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีก 12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”
ผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรมน้ำมันระบุว่า แม้จะมีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะบริเวณนอกชายฝั่งบราซิลและแอฟริกาตะวันตก แต่บางแห่งก็อยู่ในเขตน้ำลึกจนยากแก่การขุดเจาะ หรือมีขนาดเล็กเกินกว่าจะทดแทนขุมพลังงานสำคัญอย่างแหล่งกาวาร์ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีปริมาณน้ำมันสำรองลดลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจช่วยให้มนุษย์นำน้ำมันดิบจากแหล่งที่ไม่เคยมีใครเข้าถึงมาก่อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ในกรณีของซาอุดีอาระเบียอาจพบแหล่งน้ำมันเพิ่มอีกถึง 3.6 แสนล้านบาร์เรล