xs
xsm
sm
md
lg

360 องศา : ย่ายายไม่ท้อขอตามความฝัน บัลเลต์รุ่นใหญ่เพื่อใจ-สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ย่ายายยิ้มแย้มแจ่มใสเรียนบัลเลต์เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจแช่มชื่น
เอเอฟพี – ลีปูยิงในชุดออกกำลังกายรัดรูปสีดำ กางเกงผ้ายืดแนบเนื้อสีเดียวกัน และรองเท้าแบนหุ้มส้นสีชมพูอ่อน กำลังวอร์มอัพในสตูดิโอบัลเลต์ร่วมกับเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ

แต่ลีและเพื่อนๆ ต่างจากนักเรียนบัลเลต์ทั่วไปที่ยืนหลังตรง ขาเหยียดตรงเตะขึ้นในอากาศ และเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนเป็นกลุ่ม

เพราะลีเป็นคุณยายวัย 62 ปี และเป็นหนึ่งในผู้สูงวัยจำนวนมากขึ้นในสิงคโปร์ที่พยายามออกกำลังกายรักษาความกระฉับกระเฉงในสังคมชราภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยอายุขัยเฉลี่ย 81.4 ปี

บัลเลต์เป็นความฝันวัยเยาว์ของลี แต่เธอต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะมีเวลาและอิสระที่จะไล่ตามความฝัน

“แม่ไม่ยอมให้เรียนบัลเลต์ แม่บอกว่าฉันควรตั้งใจเรียนหนังสือและว่าการเต้นกินรำกินไม่พอเลี้ยงตัว

“ฉันเลยได้เฝ้ามองเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ที่โรงเรียนหัดบัลเลต์กันและแอบจำกลับไปเต้นที่ห้อง”

แต่ตอนนี้ อดีตหัวหน้างานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลดเกษียณเมื่อปี 2002 มาร่วมเต้นบัลเลต์กับนักเรียนวัยดึกคนอื่นๆ ทุกเช้าวันอาทิตย์ที่ศูนย์ชุมชนใกล้อพาร์ตเมนท์ที่พัก

“ฉันชอบบัลเลต์มาก มันทำให้ฉันมีความสุขและฉันจะเต้นต่อไปจนกว่าจะเต้นไม่ไหวแล้วเท่านั้น”

สิงคโปร์กำลังเผชิญปัญหาเดียวกับประเทศมั่งคั่งอื่นๆ ในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่มีอัตราเติบโตลดต่ำแต่อายุขัยเฉลี่ยยาวนานขึ้น ทำให้สังคมชราภาพขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ปี 2030 คาดว่าประชากร 20% ในแดนลอดช่องจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป

รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ ซึ่งได้รับการขานรับเป็นอย่างดีเพราะผู้เฒ่าผู้แก่สิงคโปร์มากมายขวนขวายหาวิธีออกกำลังกายในรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพของตัวเอง เช่น ลีลาศ เป็นต้น

เอมี ตัน ผู้อำนวยการบริหารวีเมนส์ อินิชิเอทีฟ ฟอร์ เอจจิ้ง ซัคเซสฟูลลี (วิงส์) ศูนย์การศึกษาที่ไม่แสวงหาผลกำไรสำหรับผู้หญิงสูงวัย เห็นด้วยกับแนวโน้มนี้

“การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัยต้องใช้ทั้งร่างกายและจิตใจ จึงดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ”

อย่างไรก็ตาม การเรียนบัลเลต์ไม่ใช่เรื่องง่ายดายสำหรับย่ายายทั้งหลาย บางคนมีปัญหาสุขภาพ บาดเจ็บ หรือกระทั่งกลัวความล้มเหลว

แจ็กเกอลีน โชว์ วัย 53 ปี ที่เรียนบัลเลต์ที่ศูนย์ชุมชนมาตั้งแต่ปี 2008 บอกว่าบางท่าก็ยากเย็นเหลือใจ เพราะเธอมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เข่าและเท้า

เพื่อช่วยโชว์และนักเรียนรุ่นใหญ่คนอื่นๆ ครูบัลเลต์จึงพลิกแพลงตำราบางส่วน และหลังจากเรียนได้ 3 ปี โชว์บอกว่าหลังแข็งแรงขึ้นและร่างกายยืดหยุ่นมากขึ้น

หยูชูฮุ่ย ครูสอนบัลเลต์ชาวจีนวัย 55 ปีที่สอนตามศูนย์ชุมชนที่รัฐบาลลอดช่องให้ทุนสนับสนุนมาหลายแห่งตลอด 8 ปีที่ผ่านมา บอกว่ามีความสุขที่ได้ทำงานกับคนแก่เพราะชื่นชมในทัศนคติของคนเหล่านั้น

“วันหนึ่งผมมาที่คลาสเช้ามาก เห็นนักเรียนคนหนึ่งกำลังขมักเขม้นอ่านโน้ตและซ้อมเต้น ผมรู้สึกเต็มตื้นขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก”

อายุของนักเรียนสร้างปัญหาในบางครั้ง และไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวเท่านั้น

“ครั้งหนึ่งนักเรียนคนหนึ่งสวมรองเท้าธรรมดาทับรองเท้าบัลเลต์ แต่เธอลืมและเดินหารองเท้าบัลเลต์ไปทั่ว”

ปี 2003 ย่ายายกลุ่มหนึ่งมาเลียบเคียงถามหยูว่าจะช่วยให้ฝันในการเรียนบัลเลต์ของพวกเธอเป็นจริงได้หรือไม่ เขาตกลงทันทีและเริ่มสอนนักเรียนกลุ่มแรกแค่ 6 คน

แต่ตอนนี้นักเรียนของหยูเพิ่มเป็นกว่า 40 คน

เพื่อตอบสนองความต้องการและสภาพร่างกายของลูกศิษย์ หยูได้ทำวิจัยโครงสร้างร่างกายผู้สูงวัยก่อนปรับท่าเต้นเพื่อให้นักเรียนเข้าใจลักษณะเฉพาะของบัลเลต์โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

“บัลเลต์ไม่เหมือนการเต้นอื่นๆ แต่เต็มไปด้วยความงามสง่า และทำให้ร่างกายแข็งแรงกระฉับกระเฉงขึ้น

“นอกจากให้โอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ แล้ว ยังช่วยป้องกันและชะลอการเจ็บไข้ได้ป่วย และทำให้คุณย่าคุณยายมีความสุขและมั่นใจในตัวเองอีกด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น