เอเอฟพี - เสือโคร่งมลายูจากสวนสัตว์แห่งหนึ่งในเยอรมนีกลายเป็น เสือตัวแรกของโลกที่ได้รับการผ่าตัดใส่สะโพกเทียม หลังทีมสัตวแพทย์ใช้เวลาผ่าตัดร่วม 3 ชั่วโมง มหาวิทยาลัยไลพ์ซิกแถลงวานนี้ (27)
เกิร์ล เสือโคร่งมลายูแห่งสวนสัตว์ฮัลเล ทางตะวันออกของเยอรมนี มีอาการเจ็บปวดจากภาวะข้อสะโพกด้านขวาเสื่อมมาร่วมปี มหาวิทยาลัยไลพ์ซิกแถลง
“เสือโคร่งมลายูเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ปัจจุบันคาดว่า มีเหลือรอดอยู่เพียง 500 ตัวเท่านั้น นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำหรับการผ่าตัดเจ้าเกิร์ล” คำแถลงของมหาวิทยาลัยไลพ์ซิกระบุ
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการผ่าตัดโดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน หัวใจของแม่เสือเกิร์ลเกือบจะหยุดเต้น ทว่า มิชาเอล อาเลฟ วิสัญญีแพทย์ในทีมผ่าตัดก็ช่วยชีวิตของมันไว้ได้
ขณะนี้ เกิร์ลกำลังฟื้นฟูร่างกาย โดยการดูแลอย่างใกล้ชิดในสวนสัตว์ฮัลเล มันผ่านพ้นช่วงอันตรายในระยะ 6 สัปดาห์แรก ซึ่งอวัยวะเทียมสามารถเคลื่อนตัวจากตำแหน่งได้ โดยสะโพกเทียมดังกล่าวจะติดตัวมันไปตลอดชีวิต
สะโพกเทียมที่อยู่ในตัวแม่เสือเกิร์ลเป็นอวัยวะเทียมที่ได้รับการพัฒนาเป็นครั้งแรกโดย ศาสตราจารย์ ปิแอร์ มอนตาวอน จากมหาวิทยาลัยซูริค ซึ่งร่วมมือกับบริษัทคียอน ในสวิตเซอร์แลนด์ อวัยวะเทียมชิ้นนี้ผลิตมาจากไทเทเนียม เพื่อให้สามารถใช้งานยาวนานและมีประสิทธิภาพดี โดยสะโพกเทียมนี้ได้ทดลองใช้ครั้งแรกกับสุนัข แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีการใช้ช่วยเหลือมนุษย์