เอเอฟพี - อัตราการจ่ายเบี้ยบำนาญของญี่ปุ่พุ่ง แตะสถิติสูงสุดตลอดกาลที่มูลค่า 500,000 ล้านเยน (ประมาณ 190,000 ล้านบาท) ระหว่างช่วงเดือนมีนาคม 2010 จนถึงต้นปีนี้ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยเผย
ทางการญี่ปุ่นรายงานตัวเลขดังกล่าวออกมาเมื่อวันจันทร์ (24) โดยชี้ให้เห็นว่า ผู้รับเบี้ยบำนาญ 1 คนจะมีคนทำงานเสียภาษีเลี้ยงดูประมาณ 1.8 คน สถิตินี้ส่งผลกระทบต่อการคลังทั้งภาครัฐและภาคสาธารณะ หนังสือพิมพ์นิกเคอิรายงานวันนี้ (25)
อัตราส่วนระหว่างการจ่ายเบี้ยบำนาญกับจีดีพีของญี่ปุ่นสูงกว่าประเทศอื่นๆ โดยสหรัฐฯ มีตัวเลขดังกล่าวประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ และอัตราเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี มีเพียง 7.2 เปอร์เซ็นต์ หนังสือพิมพ์นิกเคอิรายงาน
นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ให้คำมั่นว่า จะปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นอันดับแรก โดยตั้งเป้าเพิ่มอัตราภาษีโภคภัณฑ์อีก 5 เปอร์เซนต์ เพื่อหาเงินสมทบช่วยเหลือเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น ขณะที่อัตราการเสียภาษีกลับลดลง
การจ่ายเบี้ยเลี้ยงบำนาญในปี 2009 ทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 500,000 ล้านเยน (ประมาณ 190,000 ล้านบาท) โดยเพิ่มขึ้นมา 2 เปอร์เซ็นต์จากปี 2008 ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นเผย
หนังสือพิมพ์นิกเคอิ รายงานอีกว่า การจ่ายเบี้ยบำนาญเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ จากเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังมีการประเมินว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องจ่ายเบี้ยบำนาญถึง 590,000 ล้านเยน (ประมาณ 220,000 ล้านบาท) ในปี 2016 และ 650,000 ล้านเยน (ประมาณ 240,000 ล้านบาท) ล้านเยนในปี 2026
เมื่อปีงบประมาณ 2009 จำนวนผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้น 3.1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1.1 ล้านคน ทำให้ยอดรวมผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่รับเงินเลี้ยงดูจากรัฐบาลมีทั้งหมด 37 ล้านคน ทว่าจำนวนผู้เสียภาษีกลับลดลง 0.9 เปอร์เซ็นต์ หรือ 620,000 คน ทำให้ปัจจุบันญี่ปุ่นมีจำนวนผู้เสียภาษี 68.74 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ระบุ
ในการแถลงของรัฐบาลวานนี้ (24) นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ระบุว่าทางการญี่ปุ่นเตรียมปฏิรูปการประกันสังคม และระบบภาษี ซึ่งรวมทั้งการเพิ่มอัตราภาษีโภคภัณฑ์ ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้