เอเอฟพี - อนุสรณ์สถานมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้ฤกษ์เปิดอย่างตัวเป็นทางการในวันที่ 28 สิงหาคมศกนี้ หลังต้องเลื่อนจากปัญหามากมายระหว่างการก่อสร้าง อนึ่งในวันเดียวกันของเมื่อ 47 ปีที่แล้ว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนท่านนี้ได้กล่าวสุนทรพจน์ “ข้าพเจ้ามีความฝัน” ซึ่งเป็นที่จดจำของคนทั้งโลก เจ้าหน้าที่แถงวานนี้ (13)
“ในวันที่ 28 สิงหาคม 1963 มาร์ติน ลูเธอร์ คิงได้กล่าวสุนทรพจน์ ‘ข้าพเจ้ามีความฝัน’ (I have a dream speech) วันที่ 28 สิงหาคม 2008 บารัค โอบามาได้รับเลือกภายในพรรคเดโมแครตให้เป็นตัวแทนชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดี และวันที่ 28 สิงหาคม 2011 จะเป็นวันเปิดตัวอนุสรณ์สถานแห่งนี้” แฮร์รี จอห์นสัน ประธานมูลนิธิ ซึ่งรับผิดชอบการสร้างอนุสรณ์แห่งนี้ กล่าวกับเอเอฟพี
ทั้งนี้ คาดกันว่า จะมีผู้คนเข้าร่วมพิธีเปิดอนุสรณ์ดังกล่าวหลายพันคน ซึ่งตามกำหนดเดิมควรสิ้นเสร็จไปเมื่อช่วงต้นปี 2009 แต่ต้องเลื่อนออกมา เนื่องจากประสบปัญหาระหว่างการก่อสร้างมากมาย ตั้งแต่ความขัดแย้งในการรักษาความปลอดภัยเขตก่อสร้าง จนไปถึงภาวะเศรษฐกิจที่พังครืนของกรีซ
กรีซต้องระงับแผนการเสนอตัวขนส่งรูปแกะสลักของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จากจีนมายังกรุงวอชิงตันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เนื่องจากปัญหาหนี้สินภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดชิ้นส่วนของประติมากรรมดังกล่าวจำนวน 159 ชิ้นก็เดินทางมาถึงสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2010 และได้ประกอบเข้ากัน ณ สถานที่ตั้งอนุสรณ์เสร็จสมบูรณ์
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าประติมากรรมดังกล่าวเป็นผลงานของ เหลย อี้ซิน ช่างแกะสลักชาวจีนยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ช่างฝีมือชาวสหรัฐฯ ซึ่งกำลังประสบปัญหา “การว่างงาน” และต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างอนุสรณ์ ซึ่งมีมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,600 ล้านบาท) แห่งนี้
อนุสรณ์ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ความสูง 8.5 เมตรนี้ ตั้งตระหง่านอยู่ในบริเวณก่อสร้าง และกำลังทอดสายตาข้ามทะเลสาบไทดัลเบซิน ไปยังอนุสรณ์สถานโทมัส เจฟเฟอร์สัน ทว่า ยังมีนั่งร้านและตาข่ายบดบังความงดงามอยู่
“พวกเขาต้องการเก็บไว้ จนกว่าจะถึง 28 สิงหาคม” เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างอนุสรณ์กล่าว
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง กลายเป็นเหยื่อจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้กับพลเมืองชาวสหรัฐฯ เมื่อเขาถูกยิงเสียชีวิตในเมืองเมมฟิส มลรัฐเทนเนสซี เมื่อเดือนสิงหาคม 1968 ด้วยอายุเพียง 39 ปี
เขาเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวโดยปราศจากความรุนแรง และการท้าทายซึ่งหน้า (direct action) เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ยังมีส่วนร่วมในการคว่ำบาตรรถประจำทางมอนต์โกเมอรี (Montgomery Bus Boycott) ในช่วงทศวรรษ 1950 และการประท้วงครั้งใหญ่ในเมืองเบอร์มิงแฮม มลรัฐแอละแบมา เมื่อปี 1963 ซึ่งปูทางไปสู่กฎหมายสิทธิพลเมือง ฉบับปี 1964