xs
xsm
sm
md
lg

ลงประชามติซูดานใต้วันที่ 2 ยังคึกคัก-ใกล้เป็นประเทศใหม่ล่าสุดของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - พลเมืองชาวซูดานใต้นับพันนับหมื่นแห่แหนกันออกมาลงประชามติเป็นวันที่ 2 ในวันนี้ (10) กรณีการประกาศเอกราช แยกตัวออกจากซูดานเหนือ ซึ่งส่งผลให้ภูมิภาคดังกล่าวใกล้เคียงกับการเป็นประเทศใหม่ล่าสุดของโลกไปทุกขณะ

ซูดานใต้เข้าสู่การลงประชามติแยกประเทศจากซูดานเหนือเป็นวันที่ 2 จากกำหนดการณ์ทั้งหมด 7 วัน
เช่นเดียวกับภาพความปีติยินดีที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (9) ชาวบ้านเข้าแถวเรียงรายกันยาวเหยียดออกมานอกหน่วยลงคะแนน ในกรุงจูบา รอคอยใช้สิทธิ เพื่อตัดสินใจว่า จะแยกประเทศออกจากชาติแอฟริกาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหรือไม่ และเพื่อยุติความขัดแย้งอันยาวนานกว่า 50 ปีระหว่าง ซูดานเหนือ-ใต้

จำนวนผู้ออกมาลงประชามติในวันที่ 2 จากกำหนดการณ์ทั้งหมด 7 วันเป็นก้าวสำคัญจนใกล้เคียงจำนวน 60 เปอร์เซ็นต์เข้าไปทุกที ทั้งนี้มีการกำหนดในข้อตกลงสันติภาพเมื่อปี 2005 ระหว่างซูดานเหนือ-ใต้ ว่า ประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ผลการลงประชามติจึงจะได้รับการรับรอง

“ผมเกิดเมื่อปี 1955 ปีเริ่มต้นสงครามครั้งแรก” โลเมตา ฮัสซัน กล่าวหลังจากลงคะแนนในคูหา ณ กรุงจูบา โดยอ้างอิงถึงการก่อจลาจลของกองกำลังซูดานใต้ หลังอังกฤษมอบเอกราชให้ซูดานในฐานะประเทศอันเป็นหนึ่งเดียวกันกับซูดานเหนือ “ในชีวิตของผม เรามีช่วงเวลาที่สงบสุขเพียง 10 ปีเท่านั้น” โลเมตา ฮัสซัน พาดพิงถึงภาวะสงบศึกช่วงสั้นๆ ระหว่างสงครามกลางเมืองในช่วงปี 1972-1983

ฮัสซัน เพิ่งจะได้ลงคะแนนในวันนี้ (10) เหมือนคนอื่นๆ หลังจากเมื่อวาน (9) เขาต้องคอยหลายชั่วโมงโดยสูญเปล่า ก่อนคูหาลงคะแนนเปิดเมื่อเวลา 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น “วันนี้ผมมาตั้งแต่ตี 5 เพราะเมื่อวานนี้ลองมาตอน 7 โมงเช้า และพบว่ามีคนมากันอย่างล้นหลาม” โลเมตา ฮัสซัน กล่าว
ผู้ลงคะแนนกำลังจุ่มนิ้วลงในหมึกที่ล้างไม่ออก
เจมส์ กอร์ ชอล วัย 28 ปีก็เป็นอีกคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง “วันนี้ ผมมาตั้งแต่ตี 2 และเป็นคนแรกที่ได้ลงคะแนน” เขากล่าวอย่างภาคภูมิใจ ทั้งนี้ เขาศรัทธาในคริสตศาสนาเหมือนกับผู้คนส่วนใหญ่ในซูดานใต้ ดังนั้นในวันอาทิตย์ ชอล จึงไปโบสถ์ก่อนมายังคูหาลงคะแนน ซึ่งเขาพบว่ามีผู้คนมาก่อนหน้าเขาจำนวนมหาศาล

ชาวซูดานใต้จำนวนมากแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ดีที่สุดอีกครั้งในวันนี้ (10) เพื่อร่วมโหวตว่า จะแยกประเทศออกจากดินแดนของซูดานเหนือ ซึ่งคนส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม หรือไม่

หลังจากเข้าแถวแยกหญิง-ชาย และต้องคอยเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้ลงคะแนนจะจุ่มนิ้วลงในหมึกที่ล้างไม่ออก และหย่อนบัตรออกเสียงลงในกล่อง แม้บรรดาผู้นำของซูดานใต้ต่างเรียกร้องให้ประชาชนออกมาให้ใช้สิทธิ ทว่าจำนวนผู้คนในวันแรก (วานนี้) มากเกินความคาดหมายของผู้ดูแลการลงประชามติ

คูหาเลือกตั้งมีกำหนดปิดในเวลา 17.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น แต่วานนี้คูหาเลือกตั้งหลายแห่งในกรุงจูบา ที่นักข่าวเอเอฟพีไปสังเกตการณ์ ยังคงเปิดให้ลงคะแนนเพิ่มอีก 2 ชั่วโมงหรือมากกว่า เพื่อจัดการกับประชาชนอีกจำนวนมากที่กระตือรือร้นอยากลงคะแนนเต็มที ทั้งนี้มีพลเมืองซูดานใต้ลงทะเบียนใช้สิทธิครั้งนี้ราว 3.75 ล้านคน และอีกประมาณ 117,000 คนในซูดานเหนือ นอกจากนี้ ยังมีผู้อพยพชาวซูดานในอีก 8 ประเทศที่สามารถลงคะแนนข้ามประเทศได้

คาดกันว่า การรวบรวมผลการลงประชามติจะเสร็จสิ้นอย่างน้อยเดือนหน้า เนื่องจากปัญหาในการเก็บกล่องลงคะแนนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งถูกสงครามเล่นงาน โดยมีถนนที่ลาดยางเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น

การลงประชามติแยกประเทศครั้งนี้เป็นผลมาจาก ข้อตกลงสันติภาพระหว่างซูดานเหนือ-ใต้เมื่อปี 2005 เพื่อยุติสงครามกลางเมืองอันยาวนาน 22 ปี ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2 ล้านราย และอีก 4 ล้านรายต้องอพยพหนีจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน
กำลังโหลดความคิดเห็น