เอเอฟพี/เอเจนซี - ราคาน้ำมันทะยานต่อเนื่องเมื่อวันพุธ (3) แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ เหตุได้แรงหนุนจากรายงานสต๊อกพลังงานสหรัฐฯ ขณะที่วอลล์สตรีท ขยับเล็กน้อย ตามความกังวลต่อกฎระเบียบภาคธนาคาร แม้เฟดชี้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกาอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น
สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.19 ดอลลาร์ ปิดที่ 80.87 ดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่ 11 มกราคม ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 1.07 ดอลลาร์ ปิดที่ 79.25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันขานรับต่อรายงานคลังเชื้อเพลิงสำรองประจำสัปดาห์ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ที่ระบุว่าช่วงสุดสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ สต๊อกน้ำมันกลั่นอันประกอบด้วยดีเซลและน้ำมันทำความร้อน ลดลงถึง 800,000 บาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดหมายไว้
ขณะเดียวกัน แม้ว่าคลังน้ำมันดิบสำรองจะเพิ่มขึ้น 7 สัปดาห์ติดต่อกัน ที่ 4.1 ล้านบาร์เรลและมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดหมายถึง 4 เท่า รวมถึงสต๊อกเบนซิน ก็เพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล แต่ปัจจัยนี้ก็ไม่สามารถฉุดรั้งราคาไว้ได้ เนื่องจากตลาดยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์อีกทาง
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อวันพุธ (3) ขยับเล็กน้อย จากความของนักลงทุนกังวลต่อกฎระเบียบภาคธนาคาร แม้มีปัจจัยบวกจากกรณีเฟดบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจพอประมาณ และตัวเลขภาคแรงงานที่ดีขึ้น
ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ลดลง 9.22 จุด (0.09 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 10,396.76 จุด แนสแดค ลดลง 0.11 จุด (0.32 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,280.68 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 0.47 จุด (0.04 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,118.78 จุด
ในร่างข้อเสนอกฎระเบียบภาคการเงินล่าสุด ซึ่งรวมไปถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่ระงับการลงทุนสำหรับประโยชน์ของธนาคารเอง ได้ส่งแรงกดดันต่อภาคการเงิน ขณะที่นักลงทุนก็ยังมีความวิตกกังวลต่อความพยายามของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ในการรื้อฟื้นกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพของเขา
ตลาดเคลื่อนไหวในแดนลบแม้มีปัจจัยบวกจากกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงาน “Beige Book” ซึ่งเป็นรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจจากเฟดทั้ง 12 เขต บ่งชี้ว่า “สภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศยังคงขยายตัว” แม้ต้องเผชิญกับพายุหิมะช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายพื้นที่
ก่อนหน้านี้ รายงานของ เอดีบี ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านข้อมูลจ้างงานของสหรัฐฯ ระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ภาคเอกชนมีการปลดคนงานน้อยที่สุดในรอบ 2 ปี ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวดีจากภาคบริการที่มีการเติบโตแข็งแกร่งเกินความคาดหมาย