เอเอฟพี - ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนที่รวมตัวกันประท้วงบริเวณด้านนอกของรัฐสภาอินโดนีเซียเมื่อวันอังคาร(2) ขณะที่ ส.ส. กำลังอภิปรายในประเด็นร้อนกรณีปล่อยกู้ธนาคารหลายร้อยล้านดอลลาร์
ผู้ชุมนุมที่มีไม้เป็นอาวุธ จุดไฟเผาธงพรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน รวมทั้งขว้างก้อนหินและขวดน้ำเข้าใส่ตำรวจ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำเข้าใส่
กลุ่มผู้ประท้วงห้อยป้ายขนาดใหญ่บริเวณด้านนอกรัฐสภา โดยมีข้อความว่า "จับพวกหัวขโมย เปลี่ยนรัฐบาล และแก้ไขระบบโดยปราศจากเอสบีวาย" อ้างถึงแผนทุ่มเงินแผ่นดินจำนวนมหาศาลเข้าอุ้มธนาคารเซนจูรี ซึ่งเผชิญปัญหาภาวะสภาพคล่องตึงตัวอย่างสาหัสเพื่อไม่ให้ล้มละลายของรัฐบาล ซึ่งริเริ่มโดยประธานาธิบดียุโธโยโน(ชื่อย่อSBY)
"เราต้องการเห็นเรื่องอื้อฉาวของธนาคารเซนจูรียุติ...เรื่องฉาวโฉ่ที่ทำลายประเทศนี้ เหตุอัปยศที่ทำให้เงินกว่า 6.7 ล้านล้านรูเปียะห์หรือ724 ล้านดอลลาร์(ราว 23,000 ล้านบาท) ต้องอันตรธานหายไป" นักศึกษารายหนึ่งตะโกน
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกว่ามีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 2 คนถูกจับกุม ฐานยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
แผนอัดฉีดสภาพคล่องที่ได้รับอนุมัติโดยรองประธานาธิบดีโบดิโอโนและนางศรี มุลยานี อิทราวาตี รัฐมนตรีคลัง ในเดือนพฤศจิกายน 2008 เป็นจำนวนมากกว่าที่ได้รับอนุมัติในเบื้องต้นหลายเท่าตัว เรื่องนี้ทำให้เกิดความกังขาขึ้นในหมู่นักวิเคราะห์และนักการเมืองฝ่ายค้าน ว่าแบงก์ขนาดกลาง เช่นนี้ทำไมจึงต้องใช้เงินทองมหาศาลนักจึงรักษาเสถียรภาพเอาไว้ได้
รัฐสภามีคำสั่งไต่สวนเรื่องนี้หลังจาก ฮาดี โพโนโม ผู้ตรวจสอบบัญชีชื่อดังของอินโดนีเซียนำเสนอรายงานในประเด็นดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน หลังพบสิ่งบ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามีการกระทำผิดในขั้นตอนการปล่อยกู้และแนะนำให้มีการสืบสวนอย่างเต็มรูปแบบบ
นอกจากนี้โพโนโม ยังไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่าการล่มสลายของธนาคารเซนจูรีจะเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด
ภายในรัฐสภา การอภิปรายเลี้ยวเข้าสู่การตะโกนตอบโต้กันอย่างดุเดือด โดยส.ส.มีความแตกแยกทั้งสนับสนุนและต่อต้านโบดิโอโนกับ มุลยานี จนกระทั่งปิดการประชุม
การอภิปรายจะมีขึ้นอีกครั้งในวันพุธ(3) และหากยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน บรรดาสมาชิกรัฐสภาจะลงมติว่าจะสนับสนุนแผนปล่อยกู้หรือไม่ หรือควรเริ่มดำเนินการสืบสวนคดีอาญากับรัฐมนตรี 2 รายที่ได้รับความเคารพมากที่สุดในรัฐบาลของยุโธโยโน
หากรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ดำเนินการสืบสวน โบดิโอโนและ มุลยานี อาจต้องพ้นจากตำแหน่ง หลังจากกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างรุนแรงจากบรรดาส.ส.ในประเด็นนี้
ทั้งสองคนอ้างว่าการตัดสินของพวกเขาคือสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาธนาคารท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ยุโธโยโน ปกป้องสหายของเขา โดยชี้ว่าเป็นภาระหน้าที่ที่ โบดิโอโนและ มุลยานี ต้องตัดสินใจเพื่อปกป้องภาคธนาคารของประเทศ