เอเอฟพี/เอเจนซี - โตโยต้าเปิดเผยเมื่อวันจันทร์(22) ว่าได้รับเอกสารหมายเรียกจากคณะลูกขุนใหญ่สหรัฐฯ ตามหลังปัญหาด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่จุดชนวนเรียกคืนรถยนต์มากกว่า 8 ล้านคัน ความเคลื่อนไหวที่อาจทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นแห่งนี้ถูกดำเนินคดีอาญา
ภายใต้ระบบกฎหมายของสหรัฐฯ คณะลูกขุนจะพิจารณาพยานหลักฐานของพนักงานอัยการเพื่อตัดสินใจว่ามีมูลเหตุเพียงพอสำหรับสั่งฟ้องที่นำไปสู่การพิจารณาคดีหรือไม่
"คณะลูกขุนได้ส่งหมายเรียกถึงบริษัทของเราเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์และขอเอกสารต่างๆ เกี่ยวข้องกับระบบเบรกของพรีอุสและความผิดปกติของคันเร่ง" บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวในแถลงการณ์
ค่ายรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักจากข้อบกพร่องของคันเร่งและระบบเบรกในรถยนต์รุ่นต่างๆ ของบริษัท และกำลังต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่ว่า พวกเขาละเลยคำแจ้งเตือนของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและคำร้องเรียนของประชาชนต่อปัญหาดังกล่าว
"บริษัทของเราและบริษัทในเครือ พร้อมให้ความร่วมมืออย่างจริงใจกับทีมสืบสวนของทางการและเวลานี้กำลังเตรียมการตอบกลับพวกเขา" แถลงการณ์ของบริษัทระบุ
โตโยต้า เปิดเผยต่อว่ายังได้รับคำร้องจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ให้ยื่นเอกสารแบบเดียวกันนี้แก่พวกเขาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ โตโยต้า ถูกฟ้องร้องหลายสิบคดีในสหรัฐฯ อันเกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องต่างๆ ที่ก่อให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ราย ที่อาจสร้างความเสียหายแก่บริษัทหลายพันล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกันนาย อากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหารของโตโยต้า จะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นการเรียกคืนรถยนต์โดยคณะกรรมการของรัฐสภาสหรัฐฯ ด้านการตรวจสอบความผิดพลาดและการปฏิรูปของรัฐบาล ในวันพุธนี้(24) หนึ่งในโปรแกรมพิจารณาปัญหาความปลอดภัยของโตโยต้าของสภาคองเกรส
การเรียกคืนนับเป็นหายนะภาพลักษณ์ของโตโยต้าและถือเป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ 70 ปีของบริษัท ที่ได้ทุ่มงบโฆษณากล่าวขอโทษต่อลูกค้าในหนังสือพิมพ์หลายฉบับของสหรัฐฯ เพื่อหวังกอบกู้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
กระนั้นก็ดี นายดิมิทริออส บิลเลอร์ ทนายความชื่อดังที่เคยทำงานให้โตโยต้า ที่เวลานี้ผันตัวมาต่อสู่ทางกฎหมายกับบริษัท กล่าวหาว่าโตโยต้าปกปิดและทำลายหลักฐานเกี่ยวกับข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยไม่ให้ผู้บริโภค หรือหน่วยงานที่ควบคุมได้รับรู้