xs
xsm
sm
md
lg

ช่วงเวลาแห่งความรื่นเริงของผู้ผลิตชา

เผยแพร่:   โดย: ราชา มุรธี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Party time for tea producers
By Raja Murthy
19/01/2010

ราคาหุ้นของ แมคเคลาด์รัสเซล และบริษัทผู้ผลิตชาอื่นๆ ของอินเดีย กำลังพุ่งทะยานแรง ด้วยแรงหนุนจากผลประกอบการที่ทำได้อย่างงดงาม ขณะที่อุปสงค์กำลังวิ่งเลยหน้าอุปทานไปไกล นี่ย่อมเป็นข่าวร้ายสำหรับนักดื่มชาทั่วโลก ในเมื่อแนวโน้มราคาที่ไต่ขึ้นเรื่อยๆ มีการหยุดชะงักไปบ้างก็เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น สืบเนื่องจากมีฝนตกเมื่อตอนสิ้นปีที่ผ่านมา

มุมไบ – บรรดาผู้รักการดื่มชาทั้งหลาย กำลังจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับถ้วยเครื่องดื่มแห่งความรื่นรมย์ของพวกเขาในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ไป เมื่อเป็นที่คาดการณ์กันว่า อุปทาน (supply) ชาของทั่วโลกจะไล่ตามไม่ทันอุปสงค์ (demand) ยิ่งขึ้นอีก จนอยู่ในระดับขาดไปเกือบๆ 140 ล้านกิโลกรัมในปีนี้ จาก 120 กิโลกรัมในปี 2009

ราคาชาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ “จะเป็นแนวโน้มระยะยาวตลอดช่วงสองสามปีข้างหน้า” อาทิตยา ไคตัน (Aditya Khaitan) กรรมการผู้จัดการของ บริษัทแมคเคลาด์รัสเซล (McLeod Russel) ทำนาย บริษัทแห่งนี้เป็นบริษัททำสวนชารายใหญ่ที่สุดในโลก และก็เป็นผู้ส่งออกชารายใหญ่ที่สุดของอินเดีย การที่ผลผลิตชาในอัฟริกาเพิ่มสูงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ “เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น” และ “อาจจะมีผลต่อราคาเพียงแค่ไม่กี่เดือน” เขาบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์จากเมืองโกลกาตา (กัลกัตตา)

การวิเคราะห์ของไคตันเช่นนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการทำลายการมองโลกในแง่ดีของใครต่อใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงโรม และได้ออกมาพยากรณ์ในวันที่ 13 มกราคมว่า ราคาขายส่งชากำลังจะอ่อนตัวลงแล้วในปี 2010 นี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เอฟเอโอมองเช่นนี้ก็คือ มีการคาดหมายว่าสภาพอากาศจะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนเขตผลิตชาที่สำคัญๆ ทั้งหลายทั้งของเอเชียและแอฟริกา อันหมายถึงว่าจะมีผลผลิตชาออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ราคาชาได้ดำดิ่งลงมาถึง 20% แล้วในเดือนนี้ ภายหลังมีฝนตกในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาในเคนยา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกชารายใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากที่ในปี 2009 ราคาชาได้กระโจนพรวดขึ้นไปเป็นประวัติการณ์ถึง 85%

ไคตัน ซึ่งเป็นบุคคลระดับสูงสุดคนหนึ่งในวงการชาของโลก บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์เมื่อวันที่ 14 มกราคมว่า การทะยานขึ้นของราคาชาจะเป็นเรื่องยืนยาว ขณะที่การดำดิ่งลงในปัจจุบันจะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น

บริษัทแมคเคลาด์รัสเซลของไคตัน ก่อตั้งขึ้นมานมนานเป็นเวลาถึง 172 ปีแล้ว เวลานี้มีมูลค่าตามราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์เท่ากับ 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทเป็นผู้ผลิตชาปีละ 81 ล้านกิโลกรัม ว่าจ้างผู้คนกว่า 10,000 คน และเป็นเจ้าของสวนชาขนาดใหญ่ 56 แห่งในอินเดียและเวียดนาม มากยิ่งกว่าบริษัทแห่งใดๆ

ในเดือนธันวาคม แมคเคลาด์รัสเซลได้ซื้อสวนชาขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 6 แห่ง และโรงงานชาอีก 5 แห่งในยูกันดา คิดเป็นเนื้อที่มากกว่า 3,300 เฮกตาร์ (ประมาณ 20,625 ไร่) โดยมีการจ่ายเงินขั้นต้นไป 25 ล้านดอลลาร์ ไคตันคาดหมายว่าการเข้าซื้อคราวนี้จะทำให้ผลผลิตชาโดยรวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็นปีละ 96 ล้านกิโลกรัม

การซื้อสวนชาในต่างชาติครั้งใหญ่คราวนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่ที่ดินปลูกชาในอินเดียกำลังลดน้อยลงทุกที จนถึงขั้นที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในวันที่ 18 มกราคม จัดตั้งกองทุนชาเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ (Special Purpose Tea Fund หรือ STPF) ขึ้นมากองทุนหนึ่ง เพื่อใช้ในการอุดหนุนการปลูกต้นชาใหม่หรือทำให้ต้นชาเก่ามีผลผลิตมากขึ้นอีก ในบริเวณสวนชาประมาณ 212,000 เฮกตาร์ (1.325 ล้านไร่) ซึ่งทางกระทรวงเรียกว่าเป็น “พื้นที่ปลูกชาที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ” ต้นทุนของการทำนุบำรุงสวนชาในพื้นที่เหล่านี้ ทางรัฐบาลจะช่วยออกเงินสมทบให้ส่วนหนึ่ง

กระนั้นก็ตามที ผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้นมาไม่ว่าจะในอินเดียหรือที่อื่นๆ ก็ยังไม่สามารถไล่ตามทันอุปสงค์อยู่ดี “เมื่อพิจารณาจากแบบแผนอัตราการเติบโตของการบริโภคชา ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่เพียงเฉพาะในอินเดีย หากยังในปากีสถาน, อียิปต์, เอเชียตะวันตก ตลอดจนพวกตลาดชาที่ถือกันว่าเติบโตเต็มที่แล้วอย่างเช่นสหราชอาณาจักร ก็จะมองเห็นได้ว่าพวกประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกทั้งหลาย ไม่ได้มีศักยภาพที่จะตอบสนองอุปสงค์ได้ทั้งหมด” ไคตันกล่าว ในสหราชอาณาจักรซึ่งมีประชากรราว 61 ล้านคนนั้น แต่ละวันมีการดื่มชา 165 ล้านถ้วย ทั้งนี้ตามข้อมูลของ สภาชาสหราชอาณาจักร (UK Tea Council) องค์กรไม่มุ่งหวังผลกำไรที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการดื่มชา สำหรับในอินเดีย ปริมาณการดื่มชาในแต่ละวันน่าจะต้องสูงกว่า 1,000 ล้านถ้วย

จากการที่อุปสงค์สูงขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากอัตราการขยายตัวของประชากรในชาติที่นิยมดื่มชา, ระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น, และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อินเดีย และบรรดาชาติที่มีการปลูกชามากๆ รายอื่นๆ เป็นต้นว่า จีน, ศรีลังกา, และเคนยา มีหวังจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักจึงจะสามารถผลิตใบชาออกมาสนองนักดื่มชาในโลกจนเพียงพอที่จะประคับประคองไม่ให้ราคาทะยานขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น การบริโภคชายังกำลังได้รับแรงกระตุ้นจากความเห็นของพวกบุคลากรทางการแพทย์ที่ระบุถึงคุณประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระในใบชา กระทั่งบางรายถึงกับบอกว่าการดื่มชาทุกวันๆ ละ 3 ถ้วย สามารถช่วยป้องกันมะเร็ง, โรคกระดูก, โรคหัวใจ, และฟันผุ

ปีที่แล้วถือเป็นช่วงเวลาที่อุปทานชาของโลกย่ำแย่ตกต่ำผิดกว่าธรรมดา อากาศที่แห้งแล้งกว่าปกติในอินเดีย, ศรีลังกา, และเคนยา ทำให้ใบชาในคลังเก็บลดฮวบฮาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย ซึ่งในปี 2009 เป็นผู้ผลิตชารายใหญ่อันดับสองของโลก รองลงมาจากจีน

อินเดียเป็นผู้ผลิตชาประมาณ 930 ล้านกิโลกรัมต่อปี จากปริมาณผลผลิตของทั่วโลกซึ่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ราวๆ 3,500 ล้านกิโลกรัม จีนนั้นโดยเฉลี่ยแล้วเป็นผู้ผลิตชากว่า 1,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี ขณะที่เคนยาและศรีลังกาทำได้ในระหว่าง 250 ล้านกิโลกรัม ถึง 300 ล้านกิโลกรัม

ไคตันคาดหมายว่า อินเดียซึ่งอุปสงค์ในใบชามีอัตราการเพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี จะต้องประสบปัญหาผลิตใบชาได้ไม่เพียงพอสนองอุปทานในประเทศราวๆ 45 ล้านกิโลกรัม เขายืนยันว่า “การผลิตชาได้มากขึ้นย่อมหมายถึงเราจะมีกระแสเงินสดเข้ามามากขึ้น” และปฏิเสธรายงานข่าวของสื่อที่ระบุว่า พวกเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์และพวกกักตุนสินค้าตลาดมืด กำลังวางแผนทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นมา “จากอุปสงค์ในใบชาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจากข้อเท็จจริงที่ว่ายิ่งเก็บตุนเอาไว้นานเท่าใดก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพของชาเท่านั้น นั่นหมายความว่าการกักตุนไม่ใช่เป็นทางเลือกเลย มันเป็นเรื่องที่เมื่อก่อนไม่เคยเกิดขึ้น และในอนาคตก็ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น”

จากการที่อุปสงค์ในใบชากำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ ไคตันและบุคคลสำคัญคนอื่นๆ ในวงการชา จึงมีความรื่นเริงยินดีมากเป็นพิเศษ โดยที่หุ้นของพวกบริษัทที่เกี่ยวข้องกับชาในอินเดีย ต่างกำลังพุ่งขึ้นสู่ระดับราคาสูงที่สุดในรอบสิบปี ราคาหุ้นของแมคเคลาด์รัสเซลทยานขึ้น 548% ทีเดียวในปี 2009 ยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในวงการก็เช่นกัน เจย์ ชรี ที แอนด์ อินดัสทรีส์ (Jay Shree Tea and Industries) เพิ่มขึ้น 436% , และ แฮร์ริสัน มาลายาลัม (Harrison Malayalam) ผู้ปลูกชารายสำคัญทางภาคใต้ของอินเดีย สูงขึ้น 357% พวกนักวิเคราะห์ในท้องถิ่นต่างแนะนำให้ “ซื้อ” หุ้นเหล่านี้ โดยให้ซื้อลูกเดียวจนกระทั่งถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย

กระทั่งก่อนที่ราคาหุ้นจะกระโจนพรวดในปีที่แล้วด้วยซ้ำ ผลประกอบการของแมคเคลาด์รัสเซลก็สวยหรูอยู่แล้ว โดยในปีการเงินที่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2009สามารถทำผลกำไรก่อนหักภาษีได้ 22.8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสองเท่าตัวของกำไรที่ทำได้ 11.37 ล้านดอลลาร์ในปีการเงิน 2007/08 สำหรับปีนี้ผลกำไรของบริษัทยังน่าจะเพิ่มสูงต่อไป เนื่องจากในบรรดา 10 ชาติผู้ส่งออกชามากที่สุดของโลก มีเพียงจีน, มาลาวี, และซิมบับเว เท่านั้น ซึ่งในปี 2009 สามารถส่งออกได้มากกว่าปีก่อนหน้า

จีนซึ่งมีประวัติการดื่มชามายาวนานย้อนหลังไปได้ไกลโพ้นถึงปี 2737 ก่อนค.ศ. [1] ได้ส่งออกชาเป็นจำนวน 233.77 ล้านกิโลกรัม ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2009 ตามหลังเคนยา (288 ล้านกิโลกรัม) และศรีลังกา (238 ล้านกิโลกรัม) ในช่วงระยะเดียวกัน สำหรับอินเดียขายใบชาให้ต่างประเทศเป็นจำนวน 169.26 ล้านกิโลกรัม ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปีที่แล้ว ลดลง 17.6 ล้านกิโลกรัมจากระยะเดียวกันของปี 2008 ทั้งนี้ตามตัวเลขของ คณะกรรมการชาแห่งอินเดีย (Tea Board of India) หน่วยงานกำกับตรวจสอบซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่เมืองโกลกาตา

สภาพขึ้นลงอย่างคาดเดาไม่ได้ของราคาชา และอุปสงค์ในใบไม้ชนิดนี้ ได้เคยแสดงบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์มาแล้วหลายครั้งหลายหน โดยเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ย่อมจะได้แก่ เหตุการณ์ “ปาร์ตี้ชาแห่งบอสตัน” (Boston Tea Party) ปี 1773 ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกัน ถึงแม้เป็นที่น่าเสียดายว่าใบชาในกรณีดังกล่าวจบลงด้วยการถูกทิ้งลงไปในน้ำริมท่าเรือบอสตัน แทนที่จะลงไปสร้างความหฤหรรษ์ในถ้วย นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวของบริษัทบริติชอีสต์อินเดีย (British East India Company) ซึ่งในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดนั้นเป็นองค์การธุรกิจที่ทรงอำนาจที่สุดและใช้ความรุนแรงมากที่สุดรายหนึ่งของโลก โดยมีกองทัพส่วนตัวไว้คอยคุ้มครองผลประโยชน์ทางการค้าในแถบเอเชียใต้ บริษัทแห่งนี้เริ่มจัดตั้งขึ้นในปี 1600 เพื่อค้าเครื่องเทศ, ชา, และสินค้าอื่นๆ กับเอเชีย ต่อมาบริษัทก็เป็นผู้นำสหราชอาณาจักรเข้าไปยึดครองเอาอนุทวีปอินเดียเป็นอาณานิคม

แม้กระทั่งเวลานี้รัฐบาลอินเดียก็ยังถือว่าชามีความสำคัญจนกระทั่งต้องเข้าควบคุมอุตสาหกรรมนี้โดยตรง อุตสาหกรรมนี้ของอินเดียทำรายรับปีละประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ คณะกรรมการชาแห่งอินเดียระบุว่า ณ เดือนธันวาคม 2009 อินเดียมีโรงงานผลิตชาที่จดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 1,692 แห่ง, ผู้ส่งออกชา 2,200 ราย, ผู้จัดซื้อชา 5,848 ราย, และศูนย์ประมูลชาของทางการ 9 แห่ง

วงการชาไม่ต้องกังวลใจเกี่ยวกับการหาลูกค้าเลยในระยะสองสามปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผลผลิตชายังคงต้องพึ่งพาแบบแผนภูมิอากาศของโลกซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้รักการดื่มชาและร้านน้ำชาก็เพิ่มจำนวนขึ้นแบบทบทวี เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บางทีการดื่มชาอาจจะกำลังมีราคาแพงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนทำท่าจะขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกันกับการดื่มกาแฟเสียแล้ว

หมายเหตุ
[1] ตามตำนานของจีนกล่าวว่า จักรพรรดิเสินหนง พักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ขณะที่คนรับใช้ของเขากำลังต้มน้ำดื่มอยู่ใกล้ๆ แล้วก็มีใบของต้นไม้ที่ปัจจุบันมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia Sinensis หล่นลงไปในน้ำที่กำลังเดือด เสินหนงซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรลือนาม ได้ทดลองดื่มน้ำชาที่ปรุงขึ้นโดยอุบัติเหตุนี้ จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของความนิยมในการดื่มน้ำร้อนๆ ซึ่งใส่ใบของต้น Camellia Sinensis ในโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ดี มีตำนานของอินเดียที่ระบุว่า ฤาษีชาวอินเดียผู้หนึ่งเป็นผู้นำเอาใบชาใบแรกๆ จากอินเดียไปยังจีน โดยที่ในจีนมีความนิยมดื่มชากันตั้งแต่เมื่อราว 5,000 ปีก่อน หากพูดยืนยันกันให้แน่นอนโดยอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ได้มีการค้นพบภาชนะบรรจุชาในสุสานสมัยราชวงศ์ฮั่น (ปี 206 ก่อนค.ศ. – ปี ค.ศ. 220) และราชวงศ์ถัง (ปี ค.ศ. 618-906) ซึ่งถึงเวลานั้นก็เป็นที่กระจ่างชัดเจนแล้วว่า ชาเขียวคือเครื่องดื่มประจำชาติของจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น