(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Hainan tries (once more) to get rich
By Wu Zhong
08/01/2010
เกาะไหหลำของจีนซึ่งตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร ถือเป็นมณฑลที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ แต่มณฑลนี้กำลังจะกลายเป็นที่หมายด้านการท่องเที่ยวระดับระหว่างประเทศ ทั้งนี้ตามคำสั่งของรัฐบาลกลางของจีน ซึ่งต้องการให้โปรยเสน่ห์ดึงดูดผู้คนให้มาเยือน ทั้งด้วยชายหาดอันสวยงาม, การช็อปปิ้งชนิดปลอดภาษี, และแม้กระทั่งการพนัน อย่างไรก็ตาม การที่มาเก๊าและฮ่องกงจะหวั่นเกรงคู่แข่งขันรายใหม่รายนี้ก็ดูจะเป็นการตีตนไปก่อนไข้สักหน่อย เนื่องจากไหหลำมีประวัติมานานในเรื่องทำเสียหายไม่อาจบรรลุแผนการต่างๆ ที่จะทำให้ตนเองมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมา
ฮ่องกง – มณฑลไหหลำ (ไห่หนาน) ของจีนที่มีสภาพเป็นเกาะตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร กำลังจะได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนระดับระหว่างประเทศชั้นนำแห่งหนึ่งภายในปี 2020 ภายใต้แผนการอันตั้งเป้าหมายเอาไว้สูงลิ่ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีจีน ประกาศออกมาในสัปดาห์ที่แล้ว
ข้อเสนอจูงใจต่างๆ ที่ระบุเอาไว้ในแผนการนี้ มีทั้งการให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ไหหลำโดยไม่ต้องขอวีซ่า, การให้สายการบินต่างๆ บินเข้าออกเกาะแห่งนี้ได้เพิ่มมากขึ้น, การจัดให้มีการช็อปปิ้งแบบปลอดภาษี, ตลอดจนมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบบางประการในเรื่องการพนัน ซึ่งมาตรการอย่างหลังๆ จะช่วยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายในประเทศจีนเอง สิทธิพิเศษต่างๆ ที่รัฐบาลไม่เคยให้แก่ท้องที่ใดมาก่อน จะทำให้ไหหลำซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากเวียดนามโดยคนละฟากฝั่งอ่าวตังเกี๋ย รวมทั้งอยู่ที่เส้นรุ้งเดียวกันกับบริเวณภาคเหนือของลาวและไทย กลายเป็นเขต “พิเศษ” ที่สุดในบรรดา 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ (special economic zones หรือ SEZs) ของประเทศจีน (อีก 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เหลือ ได้แก่ เซินเจิ้น และจูไห่ ซึ่งอยู่ประชิดกับฮ่องกงและมาเก๊าตามลำดับ, ซานโถว หรือ ซัวเถา ที่อยู่ตรงชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่องกง, และ เซี่ยเหมิน ในมณฑลฝู่เจี้ยน ที่อยู่คนละฟากฝั่งช่องแคบกับเกาะไต้หวัน)
เป้าหมายสำคัญที่สุดของแผนการนี้ก็คือ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นอย่างคึกคักเข้มแข็งให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจของไหหลำ ทั้งนี้ไหหลำซึ่งเป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของประเทศ แม้จะเป็นมณฑลที่มีขนาดเล็กที่สุดของจีน แต่ก็เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 5 เขต และที่น่ากังวลอย่างยิ่งก็คือ เป็นเขตพิเศษที่ยังล้าหลังเขตอื่นๆ มากมายนักในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้เมื่อมองด้วยทัศนะอันกว้างไกลออกไปแล้ว ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนในคราวนี้ยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ปักกิ่งเชื่อว่าตนเองได้ค้นพบแกนหลักใหม่ในการประคับประคองอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติในช่วงระยะทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21 แล้ว โดยที่จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มทวีการบริโภคภายในประเทศในรูปของการท่องเที่ยวภายในประเทศ
จีนเป็นประเทศที่ใหญ่โตมหึมา ทั้งในแง่มุมทางด้านภูมิศาสตร์และทางด้านประชากร ดังนั้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนจึงไม่เคยและก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปอย่างเท่าเทียมสม่ำเสมอกันตลอดทั้งประเทศได้ ด้วยความตระหนักถึงความเป็นจริงเช่นนี้ ยุทธศาสตร์ของปักกิ่งจึงมุ่งรวมศูนย์ไปที่การพัฒนาภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งภายในระยะเวลาหนึ่งๆ ด้วยการทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแกนหลักที่จะขับเคลื่อนส่วนอื่นๆ ของประเทศชาติให้หมุนตามไปด้วย ดังนี้เองในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เซินเจิ้น ซึ่งมีความได้เปรียบตรงที่อยู่ประชิดติดกับฮ่องกง จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหอกของการทดลองปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประตูประเทศ
ท่ามกลางการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของพวกประเทศตะวันตก ภายหลังการปราบปรามกวาดล้างในเหตุการณ์การประท้วงในมหาจัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 รัฐบาลจีนก็ได้ตัดสินใจเมื่อปี 1990 ที่จะบ่มเพาะพื้นที่ผู่ตง ของนครเซี่ยงไฮ้ (ซั่งไห่) ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจะเป็นผู้จัดหาเม็ดเงินและแรงกระตุ้นใหม่ๆ ให้แก่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ ต่อมา ภายหลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกแล้ว แผนการ 5 ปีฉบับที่ 11 (ปี 2006-2010) ของจีน ก็กำหนดให้พัฒนา “พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เทียนจิน ปินไห่” (Tianjin Binhai New Area) เพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจบริเวณริมทะเลป๋อไห่ ตรงพื้นที่เขตท่าเรือซึ่งประชิดติดต่อกับด้านตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง
มาตรการจูงใจต่างๆ ที่ให้แก่พื้นที่ “แกนหลัก” เหล่านี้ เท่าที่ผ่านมาอยู่ในรูปการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งด้านอุตสาหกรรมการผลิต, การค้า, ตลอดจนทางด้านการเงิน เมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว แผนการสำหรับไหหลำคราวนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมไร้ปล่องควันโรงงาน อย่างการท่องเที่ยวตลอดจนบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่มุ่งจะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ
ขณะที่แผนการนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาเกาะไหหลำ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 34,000 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าไต้หวันเล็กน้อย) และมีจำนวนประชากรกว่า 8 ล้านคน ให้กลายเป็นที่หมายด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ แต่การเปิดแหล่งช็อปปิ้งปลอดภาษี ตลอดจนการพนัน ก็ย่อมจะดึงดูดผู้พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศจีนเอง
จวบจนกระทั่งถึงปลายทศวรรษ 1980 ฐานะทางการบริหารปกครองของไหหลำคือเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง (กว่างตง) ที่เวลานี้กลายเป็นมณฑลร่ำรวยที่สุดของจีน และจากการสำรวจความคิดเห็นในกวางตุ้งภายหลังรายงานข่าวข้อเสนอเหล่านี้เผยแพร่ออกมา ปรากฏผลว่าผู้คนจำนวนมากตั้งใจที่จะไปเที่ยวไหหลำเป็นประจำ ทั้งเพื่อการช็อปปิ้งและการพักผ่อนหย่อนใจ ในทันทีที่มีการดำเนินการตามแผนการนี้
อย่างไรก็ดี แผนการพัฒนาไหหลำก็ก่อให้เกิดความกังวลใจขึ้นมาทันทีในฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งหากเดินทางด้วยเครื่องบินจากไหหลำก็จะใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ เวลานี้แผ่นดินใหญ่ของจีนคือแหล่งป้อนผู้มาเยือนกลุ่มใหญ่ที่สุดให้แก่อดีตดินแดนอาณานิคมทั้ง 2 แห่งนี้ โดยที่เสน่ห์ดึงดูดสำคัญของฮ่องกงซึ่งเป็นเมืองท่าเสรี ก็คือการช็อปปิ้งปลอดภาษี ขณะที่มนตร์ของมาเก๊าได้แก่ความบันเทิงเริงรมย์และการพนัน ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในจีนแผ่นดินใหญ่
เวลานี้กระทรวงการคลังของจีนกำลังเป็นผู้นำในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการคืนภาษีแก่พวกนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปซื้อของในไหหลำ ปักกิ่งยังกำลังสำรวจลู่ทางความเหมาะสมที่จะอนุญาตให้พวกนักท่องเที่ยวชาวจีนที่อยู่นอกไหหลำ เข้าไปช็อปปิ้งแบบปลอดภาษีบนเกาะแห่งนี้
แต่ทางด้านพวกผู้นำระดับมณฑลของไหหลำเอง กลับรีบออกมาบรรเทาความกังวลของฮ่องกงและมาเก๊า เว่ยหลิวเฉิง (Wei Liucheng) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาไหหลำ กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวเรื่องแผนการพัฒนานี้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในวันพุธ(6)ว่า เกาะไหหลำเพิ่งอยู่ในขั้นทดลองเปิดการช็อปปิ้งแบบปลอดภาษี และยังจะต้องใช้เวลาอีกมากมายกว่าที่จะสามารถพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อการช็อปปิ่งให้อยู่ในระดับทัดเทียมกับฮ่องกงได้
“ในอนาคตที่เราพอจะมองเห็นกันได้ การแข่งขันอย่างจริงจังระหว่างไหหลำกับฮ่องกงยังไม่น่าที่จะเกิดขึ้นมาได้” สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนอ้างคำพูดของเขา
ในที่ประชุมแถลงข่าวครั้งเดียวกันนี้ หลัวเป่าหมิง (Luo Baoming) ผู้ว่าการมณฑลไหหลำ ยังได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดสร้างสถานกาสิโนขึ้นบนเกาะแห่งนี้ ทางด้านเว่ยกล่าวเสริมว่า ด้วยเหตุดังนี้ ไหหลำจึงไม่ได้เป็นภัยคุกคามมาเก๊าแต่อย่างใด
ตามแผนการที่ผ่านคณะรัฐมนตรีจีนในคราวนี้ ไหหลำได้รับอนุญาตให้ “สำรวจและพัฒนา” การออกสลากพนันกินแบ่งทายผลกีฬา (pari-mutuel sports lotteries) และสลากพนันกีฬาแบบรู้ผลทันที (instant sports lotteries) สำหรับรายการกีฬาระดับระหว่างประเทศครั้งใหญ่ๆ (ระบบพนันแบบกินแบ่ง pari-mutuel เป็นวิธีพนันที่ใช้หลักการนำเอาเงินพนันของผู้เล่นทั้งหมดมารวมกัน หักค่าภาษีและค่าธรรมเนียมเจ้ามือ หรือที่เรียกกันว่าค่าต๋ง ออกไป เหลือเท่าใดจึงนำมาคำนวณแบ่งจ่ายให้แก่ผู้เล่นที่ถูกรางวัล หากมีผู้เล่นที่ถูกรางวัลหลายคนก็แบ่งไปตามสัดส่วนของจำนวนและเงินเดิมพันของผู้เล่นแต่ละคน วิธีเดิมพันเช่นนี้นิยมใช้กันในการพนันแข่งม้า ส่วนสลากแบบรู้ผลทันที instant lotteries มักอยู่ในรูปที่มีการพิมพ์ผลที่ถูกรางวัลเอาไว้ในตัวสลาก ผู้ซื้อขูดเอาส่วนที่ปิดเอาไว้ออกไป ก็จะทราบผลว่าถูกรางวัลหรือไม่)
“ไหหลำได้รับอนุญาตให้มีที่ทางมากขึ้นกว่าพื้นที่อื่นๆ ของจีนในการสำรวจโอกาสลู่ทางของตลาดสลากพนัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไหหลำจะสามารถทำผิดกฎหมายต่างๆ ของประเทศจีนได้” หลัวกล่าว แต่เขาไม่ขอแถลงยืนยันว่าจะมีการนำเอาการพนันแข่งม้าเข้าไปให้เล่นกันที่เกาะไหหลำจริงหรือไม่ ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ ดิ อินฟอเมชั่น ไทมส์ (The Information Times) ได้รายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไหหลำอาจจะเป็นฐานสำหรับการทดลองทางเลือกต่างๆ ในด้านการพนัน ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่อาจจะนำมาทดลองก็คือ การแข่งม้า
ปัจจุบันการพนันยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามบนแผ่นดินใหญ่จีน ทว่าเมื่อราว 20 ปีมาแล้ว จีนได้เริ่มผ่อนผันให้มีการออกสลากพนันเพื่อการกุศลและการกีฬา โดยที่ให้รางวัลจากการทายผลการแข่งขันบาสเกตบอลและฟุตบอลต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นช่องทางในการระดมหาเงินทุนมาใช้ในด้านสังคมสงเคราะห์และการจัดแข่งขันกีฬา ปักกิ่งวางแผนที่จะอนุญาตให้ไหหลำขยายการออกสลากพนันทายผลกีฬา ให้ครอบคลุมไปถึงกีฬาจำพวกการแข่งขันจักรยาน, เรือใบ, วอลเลย์บอลชายหาด, และการแข่งม้า ตราบเท่าที่รายการแข่งขันเหล่านี้จัดขึ้นบนเกาะไหหลำเอง ทั้งนี้เป็นคำบอกเล่าของ หวางเสวี่ยหง (Wang Xuehong) ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาสลากพนันของจีน (China Center for Lottery Studies) ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งกล่าวกับหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่
หวางและอีกหลายๆ คนในประเทศจีนเชื่อว่า ปักกิ่งจะอนุญาตให้ไหหลำเปิดอุตสาหกรรมการพนันทีละขั้นๆ ในลักษณะของการลองถูกลองผิด ทั้งนี้ “เมื่อประตูค่อยๆ แง้มเปิดออกมา ในที่สุดแล้วมันก็จะเปิดกว้างอ้าซ่า นี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เราได้เห็นกันมาแล้วว่าการปฏิรูปทางเศรษฐกิจทุกๆ อย่าง(ของจีน) ต่างก็ดำเนินไปในเส้นทางแบบนี้ทั้งสิ้น” นี่เป็นความเห็นของนักวิจัยทางด้านสังคมวิทยาผู้หนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ในบัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences หรือ CASS)
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปักกิ่งตั้งความหวังเอาไว้อย่างสูงส่งกับการพัฒนาของไหหลำ เกาะแห่งนี้อยู่ในฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของมณฑลกวางตุ้งมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงปี 1988 ไหหลำจึงได้รับการยกระดับขึ้นเป็นมณฑล และจากนั้นก็ได้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีก 4 ปีต่อมา คณะรัฐมนตรีของจีนได้อนุมัติให้พื้นที่หยางผู่ (Yangpu) ซึ่งตั้งอยู่บนแหลมทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเกาะ เป็นเขตปลอดภาษี เกาะแห่งนี้มีชื่อเสียงความสำคัญในระดับระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในปี 2001 เมื่อเริ่มเป็นเจ้าภาพของการประชุม “เวทีป๋ออ้าวเพื่อเอเชีย” (Boao Forum for Asia) อันเป็นรายการพูดคุยถกเถียงกันประจำปีของบรรดาผู้นำทางการเมืองและทางด้านธุรกิจในภูมิภาคแถบนี้
แต่แม้จะมีมาตรการจูงใจตลอดจนความพยายามต่างๆ มากมาย ไหหลำก็ยังคงเป็นมณฑลที่พัฒนาน้อยที่สุดในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของจีน โดยที่ชายฝั่งภาคตะวันออกคือภูมิภาคที่ถือเป็นแนวหน้าแห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าตื่นใจของประเทศตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของมณฑลแห่งนี้ยังคงครอบงำด้วยเกษตรกรรม โดยแทบไม่ได้มีเส้นทางการเติบโตขยายตัวของอุตสาหกรรมเอาเสียเลย
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ต่อประชากรแต่ละคนในไหหลำเมื่อปี 2008 อยู่ที่ 17,084 หยวน (ราว 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เปรียบเทียบกับระดับเฉลี่ยทั่วทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 22,780 หยวน ขณะที่ในมณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นเพื่อนบ้านผู้ร่ำรวย จีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 37,579 หยวนทีเดียว แม้กระทั่งซินเกียง (ซินเจียง) ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือไกลโพ้น ก็ยังทำได้ดีกว่า คืออยู่ที่ 19,732 หยวน และทิเบตซึ่งอยู่ในระดับ 13,861 หยวนก็ไม่ได้ถูกไหหลำทิ้งห่างสักเท่าใดเลย
ถ้าหากการพัฒนาไหหลำจะประสบความสำเร็จจนสามารถทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าได้เสียทีในคราวนี้ (โดยที่การท่องเที่ยวก็เป็นตัวทำรายได้ให้แก่มณฑลแห่งนี้อยู่แล้ว เนื่องจากภูมิอากาศแบบเส้นศูนย์สูตรและชายหาดต่างๆ ที่งดงามมีเสน่ห์สามารถดึงดูดผู้มาเยือน) มันก็จะเป็นการเติมเต็มทำให้ฝั่งตะวันออกของประเทศจีนกลายเป็น“ชายฝั่งทองคำ” (golden strand) อย่างสมบูรณ์ ไล่ตั้งแต่พื้นที่ริมทะเลป๋อไห่ทางสุดตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านนครเซี่ยงไฮ้ และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ผ่านช่องแคบไต้หวัน มาจนถึงพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงที่ประกอบด้วยกวางตุ้ง, มาเก๊า, และฮ่องกง
ความวิตกกังวลของผู้คนในอดีตอาณานิคมทั้งสองอย่างฮ่องกงและมาเก๊า ต้องถือว่าเป็นเรื่องไร้ความหมายไปเลย เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายอันสุกใสเรืองรองดังกล่าวนี้
อู่จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
Hainan tries (once more) to get rich
By Wu Zhong
08/01/2010
เกาะไหหลำของจีนซึ่งตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร ถือเป็นมณฑลที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ แต่มณฑลนี้กำลังจะกลายเป็นที่หมายด้านการท่องเที่ยวระดับระหว่างประเทศ ทั้งนี้ตามคำสั่งของรัฐบาลกลางของจีน ซึ่งต้องการให้โปรยเสน่ห์ดึงดูดผู้คนให้มาเยือน ทั้งด้วยชายหาดอันสวยงาม, การช็อปปิ้งชนิดปลอดภาษี, และแม้กระทั่งการพนัน อย่างไรก็ตาม การที่มาเก๊าและฮ่องกงจะหวั่นเกรงคู่แข่งขันรายใหม่รายนี้ก็ดูจะเป็นการตีตนไปก่อนไข้สักหน่อย เนื่องจากไหหลำมีประวัติมานานในเรื่องทำเสียหายไม่อาจบรรลุแผนการต่างๆ ที่จะทำให้ตนเองมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมา
ฮ่องกง – มณฑลไหหลำ (ไห่หนาน) ของจีนที่มีสภาพเป็นเกาะตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร กำลังจะได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนระดับระหว่างประเทศชั้นนำแห่งหนึ่งภายในปี 2020 ภายใต้แผนการอันตั้งเป้าหมายเอาไว้สูงลิ่ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีจีน ประกาศออกมาในสัปดาห์ที่แล้ว
ข้อเสนอจูงใจต่างๆ ที่ระบุเอาไว้ในแผนการนี้ มีทั้งการให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ไหหลำโดยไม่ต้องขอวีซ่า, การให้สายการบินต่างๆ บินเข้าออกเกาะแห่งนี้ได้เพิ่มมากขึ้น, การจัดให้มีการช็อปปิ้งแบบปลอดภาษี, ตลอดจนมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบบางประการในเรื่องการพนัน ซึ่งมาตรการอย่างหลังๆ จะช่วยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายในประเทศจีนเอง สิทธิพิเศษต่างๆ ที่รัฐบาลไม่เคยให้แก่ท้องที่ใดมาก่อน จะทำให้ไหหลำซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากเวียดนามโดยคนละฟากฝั่งอ่าวตังเกี๋ย รวมทั้งอยู่ที่เส้นรุ้งเดียวกันกับบริเวณภาคเหนือของลาวและไทย กลายเป็นเขต “พิเศษ” ที่สุดในบรรดา 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ (special economic zones หรือ SEZs) ของประเทศจีน (อีก 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เหลือ ได้แก่ เซินเจิ้น และจูไห่ ซึ่งอยู่ประชิดกับฮ่องกงและมาเก๊าตามลำดับ, ซานโถว หรือ ซัวเถา ที่อยู่ตรงชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่องกง, และ เซี่ยเหมิน ในมณฑลฝู่เจี้ยน ที่อยู่คนละฟากฝั่งช่องแคบกับเกาะไต้หวัน)
เป้าหมายสำคัญที่สุดของแผนการนี้ก็คือ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นอย่างคึกคักเข้มแข็งให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจของไหหลำ ทั้งนี้ไหหลำซึ่งเป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของประเทศ แม้จะเป็นมณฑลที่มีขนาดเล็กที่สุดของจีน แต่ก็เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 5 เขต และที่น่ากังวลอย่างยิ่งก็คือ เป็นเขตพิเศษที่ยังล้าหลังเขตอื่นๆ มากมายนักในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้เมื่อมองด้วยทัศนะอันกว้างไกลออกไปแล้ว ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนในคราวนี้ยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ปักกิ่งเชื่อว่าตนเองได้ค้นพบแกนหลักใหม่ในการประคับประคองอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติในช่วงระยะทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21 แล้ว โดยที่จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มทวีการบริโภคภายในประเทศในรูปของการท่องเที่ยวภายในประเทศ
จีนเป็นประเทศที่ใหญ่โตมหึมา ทั้งในแง่มุมทางด้านภูมิศาสตร์และทางด้านประชากร ดังนั้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนจึงไม่เคยและก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปอย่างเท่าเทียมสม่ำเสมอกันตลอดทั้งประเทศได้ ด้วยความตระหนักถึงความเป็นจริงเช่นนี้ ยุทธศาสตร์ของปักกิ่งจึงมุ่งรวมศูนย์ไปที่การพัฒนาภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งภายในระยะเวลาหนึ่งๆ ด้วยการทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแกนหลักที่จะขับเคลื่อนส่วนอื่นๆ ของประเทศชาติให้หมุนตามไปด้วย ดังนี้เองในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เซินเจิ้น ซึ่งมีความได้เปรียบตรงที่อยู่ประชิดติดกับฮ่องกง จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหอกของการทดลองปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประตูประเทศ
ท่ามกลางการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของพวกประเทศตะวันตก ภายหลังการปราบปรามกวาดล้างในเหตุการณ์การประท้วงในมหาจัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 รัฐบาลจีนก็ได้ตัดสินใจเมื่อปี 1990 ที่จะบ่มเพาะพื้นที่ผู่ตง ของนครเซี่ยงไฮ้ (ซั่งไห่) ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจะเป็นผู้จัดหาเม็ดเงินและแรงกระตุ้นใหม่ๆ ให้แก่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ ต่อมา ภายหลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกแล้ว แผนการ 5 ปีฉบับที่ 11 (ปี 2006-2010) ของจีน ก็กำหนดให้พัฒนา “พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เทียนจิน ปินไห่” (Tianjin Binhai New Area) เพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจบริเวณริมทะเลป๋อไห่ ตรงพื้นที่เขตท่าเรือซึ่งประชิดติดต่อกับด้านตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง
มาตรการจูงใจต่างๆ ที่ให้แก่พื้นที่ “แกนหลัก” เหล่านี้ เท่าที่ผ่านมาอยู่ในรูปการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งด้านอุตสาหกรรมการผลิต, การค้า, ตลอดจนทางด้านการเงิน เมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว แผนการสำหรับไหหลำคราวนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมไร้ปล่องควันโรงงาน อย่างการท่องเที่ยวตลอดจนบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่มุ่งจะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ
ขณะที่แผนการนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาเกาะไหหลำ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 34,000 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าไต้หวันเล็กน้อย) และมีจำนวนประชากรกว่า 8 ล้านคน ให้กลายเป็นที่หมายด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ แต่การเปิดแหล่งช็อปปิ้งปลอดภาษี ตลอดจนการพนัน ก็ย่อมจะดึงดูดผู้พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศจีนเอง
จวบจนกระทั่งถึงปลายทศวรรษ 1980 ฐานะทางการบริหารปกครองของไหหลำคือเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง (กว่างตง) ที่เวลานี้กลายเป็นมณฑลร่ำรวยที่สุดของจีน และจากการสำรวจความคิดเห็นในกวางตุ้งภายหลังรายงานข่าวข้อเสนอเหล่านี้เผยแพร่ออกมา ปรากฏผลว่าผู้คนจำนวนมากตั้งใจที่จะไปเที่ยวไหหลำเป็นประจำ ทั้งเพื่อการช็อปปิ้งและการพักผ่อนหย่อนใจ ในทันทีที่มีการดำเนินการตามแผนการนี้
อย่างไรก็ดี แผนการพัฒนาไหหลำก็ก่อให้เกิดความกังวลใจขึ้นมาทันทีในฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งหากเดินทางด้วยเครื่องบินจากไหหลำก็จะใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ เวลานี้แผ่นดินใหญ่ของจีนคือแหล่งป้อนผู้มาเยือนกลุ่มใหญ่ที่สุดให้แก่อดีตดินแดนอาณานิคมทั้ง 2 แห่งนี้ โดยที่เสน่ห์ดึงดูดสำคัญของฮ่องกงซึ่งเป็นเมืองท่าเสรี ก็คือการช็อปปิ้งปลอดภาษี ขณะที่มนตร์ของมาเก๊าได้แก่ความบันเทิงเริงรมย์และการพนัน ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในจีนแผ่นดินใหญ่
เวลานี้กระทรวงการคลังของจีนกำลังเป็นผู้นำในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการคืนภาษีแก่พวกนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปซื้อของในไหหลำ ปักกิ่งยังกำลังสำรวจลู่ทางความเหมาะสมที่จะอนุญาตให้พวกนักท่องเที่ยวชาวจีนที่อยู่นอกไหหลำ เข้าไปช็อปปิ้งแบบปลอดภาษีบนเกาะแห่งนี้
แต่ทางด้านพวกผู้นำระดับมณฑลของไหหลำเอง กลับรีบออกมาบรรเทาความกังวลของฮ่องกงและมาเก๊า เว่ยหลิวเฉิง (Wei Liucheng) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาไหหลำ กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวเรื่องแผนการพัฒนานี้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในวันพุธ(6)ว่า เกาะไหหลำเพิ่งอยู่ในขั้นทดลองเปิดการช็อปปิ้งแบบปลอดภาษี และยังจะต้องใช้เวลาอีกมากมายกว่าที่จะสามารถพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อการช็อปปิ่งให้อยู่ในระดับทัดเทียมกับฮ่องกงได้
“ในอนาคตที่เราพอจะมองเห็นกันได้ การแข่งขันอย่างจริงจังระหว่างไหหลำกับฮ่องกงยังไม่น่าที่จะเกิดขึ้นมาได้” สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนอ้างคำพูดของเขา
ในที่ประชุมแถลงข่าวครั้งเดียวกันนี้ หลัวเป่าหมิง (Luo Baoming) ผู้ว่าการมณฑลไหหลำ ยังได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดสร้างสถานกาสิโนขึ้นบนเกาะแห่งนี้ ทางด้านเว่ยกล่าวเสริมว่า ด้วยเหตุดังนี้ ไหหลำจึงไม่ได้เป็นภัยคุกคามมาเก๊าแต่อย่างใด
ตามแผนการที่ผ่านคณะรัฐมนตรีจีนในคราวนี้ ไหหลำได้รับอนุญาตให้ “สำรวจและพัฒนา” การออกสลากพนันกินแบ่งทายผลกีฬา (pari-mutuel sports lotteries) และสลากพนันกีฬาแบบรู้ผลทันที (instant sports lotteries) สำหรับรายการกีฬาระดับระหว่างประเทศครั้งใหญ่ๆ (ระบบพนันแบบกินแบ่ง pari-mutuel เป็นวิธีพนันที่ใช้หลักการนำเอาเงินพนันของผู้เล่นทั้งหมดมารวมกัน หักค่าภาษีและค่าธรรมเนียมเจ้ามือ หรือที่เรียกกันว่าค่าต๋ง ออกไป เหลือเท่าใดจึงนำมาคำนวณแบ่งจ่ายให้แก่ผู้เล่นที่ถูกรางวัล หากมีผู้เล่นที่ถูกรางวัลหลายคนก็แบ่งไปตามสัดส่วนของจำนวนและเงินเดิมพันของผู้เล่นแต่ละคน วิธีเดิมพันเช่นนี้นิยมใช้กันในการพนันแข่งม้า ส่วนสลากแบบรู้ผลทันที instant lotteries มักอยู่ในรูปที่มีการพิมพ์ผลที่ถูกรางวัลเอาไว้ในตัวสลาก ผู้ซื้อขูดเอาส่วนที่ปิดเอาไว้ออกไป ก็จะทราบผลว่าถูกรางวัลหรือไม่)
“ไหหลำได้รับอนุญาตให้มีที่ทางมากขึ้นกว่าพื้นที่อื่นๆ ของจีนในการสำรวจโอกาสลู่ทางของตลาดสลากพนัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไหหลำจะสามารถทำผิดกฎหมายต่างๆ ของประเทศจีนได้” หลัวกล่าว แต่เขาไม่ขอแถลงยืนยันว่าจะมีการนำเอาการพนันแข่งม้าเข้าไปให้เล่นกันที่เกาะไหหลำจริงหรือไม่ ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ ดิ อินฟอเมชั่น ไทมส์ (The Information Times) ได้รายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไหหลำอาจจะเป็นฐานสำหรับการทดลองทางเลือกต่างๆ ในด้านการพนัน ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่อาจจะนำมาทดลองก็คือ การแข่งม้า
ปัจจุบันการพนันยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามบนแผ่นดินใหญ่จีน ทว่าเมื่อราว 20 ปีมาแล้ว จีนได้เริ่มผ่อนผันให้มีการออกสลากพนันเพื่อการกุศลและการกีฬา โดยที่ให้รางวัลจากการทายผลการแข่งขันบาสเกตบอลและฟุตบอลต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นช่องทางในการระดมหาเงินทุนมาใช้ในด้านสังคมสงเคราะห์และการจัดแข่งขันกีฬา ปักกิ่งวางแผนที่จะอนุญาตให้ไหหลำขยายการออกสลากพนันทายผลกีฬา ให้ครอบคลุมไปถึงกีฬาจำพวกการแข่งขันจักรยาน, เรือใบ, วอลเลย์บอลชายหาด, และการแข่งม้า ตราบเท่าที่รายการแข่งขันเหล่านี้จัดขึ้นบนเกาะไหหลำเอง ทั้งนี้เป็นคำบอกเล่าของ หวางเสวี่ยหง (Wang Xuehong) ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาสลากพนันของจีน (China Center for Lottery Studies) ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งกล่าวกับหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่
หวางและอีกหลายๆ คนในประเทศจีนเชื่อว่า ปักกิ่งจะอนุญาตให้ไหหลำเปิดอุตสาหกรรมการพนันทีละขั้นๆ ในลักษณะของการลองถูกลองผิด ทั้งนี้ “เมื่อประตูค่อยๆ แง้มเปิดออกมา ในที่สุดแล้วมันก็จะเปิดกว้างอ้าซ่า นี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เราได้เห็นกันมาแล้วว่าการปฏิรูปทางเศรษฐกิจทุกๆ อย่าง(ของจีน) ต่างก็ดำเนินไปในเส้นทางแบบนี้ทั้งสิ้น” นี่เป็นความเห็นของนักวิจัยทางด้านสังคมวิทยาผู้หนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ในบัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences หรือ CASS)
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปักกิ่งตั้งความหวังเอาไว้อย่างสูงส่งกับการพัฒนาของไหหลำ เกาะแห่งนี้อยู่ในฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของมณฑลกวางตุ้งมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงปี 1988 ไหหลำจึงได้รับการยกระดับขึ้นเป็นมณฑล และจากนั้นก็ได้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีก 4 ปีต่อมา คณะรัฐมนตรีของจีนได้อนุมัติให้พื้นที่หยางผู่ (Yangpu) ซึ่งตั้งอยู่บนแหลมทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเกาะ เป็นเขตปลอดภาษี เกาะแห่งนี้มีชื่อเสียงความสำคัญในระดับระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในปี 2001 เมื่อเริ่มเป็นเจ้าภาพของการประชุม “เวทีป๋ออ้าวเพื่อเอเชีย” (Boao Forum for Asia) อันเป็นรายการพูดคุยถกเถียงกันประจำปีของบรรดาผู้นำทางการเมืองและทางด้านธุรกิจในภูมิภาคแถบนี้
แต่แม้จะมีมาตรการจูงใจตลอดจนความพยายามต่างๆ มากมาย ไหหลำก็ยังคงเป็นมณฑลที่พัฒนาน้อยที่สุดในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของจีน โดยที่ชายฝั่งภาคตะวันออกคือภูมิภาคที่ถือเป็นแนวหน้าแห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าตื่นใจของประเทศตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของมณฑลแห่งนี้ยังคงครอบงำด้วยเกษตรกรรม โดยแทบไม่ได้มีเส้นทางการเติบโตขยายตัวของอุตสาหกรรมเอาเสียเลย
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ต่อประชากรแต่ละคนในไหหลำเมื่อปี 2008 อยู่ที่ 17,084 หยวน (ราว 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เปรียบเทียบกับระดับเฉลี่ยทั่วทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 22,780 หยวน ขณะที่ในมณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นเพื่อนบ้านผู้ร่ำรวย จีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 37,579 หยวนทีเดียว แม้กระทั่งซินเกียง (ซินเจียง) ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือไกลโพ้น ก็ยังทำได้ดีกว่า คืออยู่ที่ 19,732 หยวน และทิเบตซึ่งอยู่ในระดับ 13,861 หยวนก็ไม่ได้ถูกไหหลำทิ้งห่างสักเท่าใดเลย
ถ้าหากการพัฒนาไหหลำจะประสบความสำเร็จจนสามารถทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าได้เสียทีในคราวนี้ (โดยที่การท่องเที่ยวก็เป็นตัวทำรายได้ให้แก่มณฑลแห่งนี้อยู่แล้ว เนื่องจากภูมิอากาศแบบเส้นศูนย์สูตรและชายหาดต่างๆ ที่งดงามมีเสน่ห์สามารถดึงดูดผู้มาเยือน) มันก็จะเป็นการเติมเต็มทำให้ฝั่งตะวันออกของประเทศจีนกลายเป็น“ชายฝั่งทองคำ” (golden strand) อย่างสมบูรณ์ ไล่ตั้งแต่พื้นที่ริมทะเลป๋อไห่ทางสุดตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านนครเซี่ยงไฮ้ และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ผ่านช่องแคบไต้หวัน มาจนถึงพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงที่ประกอบด้วยกวางตุ้ง, มาเก๊า, และฮ่องกง
ความวิตกกังวลของผู้คนในอดีตอาณานิคมทั้งสองอย่างฮ่องกงและมาเก๊า ต้องถือว่าเป็นเรื่องไร้ความหมายไปเลย เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายอันสุกใสเรืองรองดังกล่าวนี้
อู่จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์