เอเจนซี/เอเอฟพี - บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ(UN) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(UNSC) ประณามเหตุระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีพิธีฉลองการสำเร็จการศึกษาในโซมาเลีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 19 คน รวมถึงรัฐมนตรี 3 คน ขณะที่มีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 60 คนด้วย
เลขาธิการสหประชาชาติ และคณะมนตรีความมั่นคงฯ ออกแถลงการณ์ประณามเหตุระเบิดโจมตีพิธีสำเร็จการศึกษาของบัณทิตแพทย์ในกรุงโมกาดิชู เมื่อวันพฤหับดี(4)
แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวอ่านโดยไมเคิล กาฟันโด เอกอัครราชทูตยูเอ็นประจำบูกินาฟาโซ ซึ่งเป็นประธานยูเอ็นเอสซี ระบุว่า การโจมตีครั้งนี้ยิ่งทำให้เสริมสร้างความมุ่งมั่นของรัฐบาลและชาวโซมาเลียที่จะพยายามช่วยกันปราบปรามการก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น การโจมตีครั้งนี้เป็นการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนที่พยายามสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในอนาคตของโซมาเลีย นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้
ระเบิดโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่บัณฑิตแพทย์ มหาวิทยาลัยบานาดีร์ กำลังฉลองความสำเร็จที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงโมกาดิชู เมื่อวานนี้ นับเป็นการโจมตีรุนแรงที่สุดต่อรัฐบาลโซมาเลีย นับตั้งแต่กลุ่มอัลกออิดะห์เริ่มก่อความไม่สงบ
กองกำลังสหภาพแอฟริกาในโซมาเลียเผยว่า มือระเบิดฆ่าตัวตายชาวโซมาเลียปลอมตัวเป็นสตรี แล้วเข้าไปในงานจากนั้นก็กดระเบิด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 19 คน ส่วนใหญ่เป็นบัณฑิต รวมถึงรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา และรัฐมนตรีสาธารณสุข ขณะที่รัฐมนตรีกีฬาและรัฐมนตรีท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บสาหัส
เหตุระเบิดครั้งนี้ยังทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 60 คน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างว่าความรับผิดชอบ แต่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นฝีมือของสมาชิกกลุ่มติดอาวุธอัล ชาบับ ซึ่งเป็นสาขาของเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของโซมาเลีย และมีผลงานการโจมตีในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา โฆษกของกลุ่มอัลชาบับ ได้ออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขัน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในโซมาเลียก่อเหตุโจมตีระลอกใหม่ต่อรัฐบาล ตั้งแต่ 7พฤษภาคมที่ผ่านมา จนนำมาสู่การปะทะ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 250 คนแล้ว ขณะที่ประเมินว่า มีผู้อพยพหนีการสู้รบราว 120,000 คน
รัฐบาลชุดปัจจุบันของโซมาเลียได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็นระหว่างช่วงโอนถ่ายอำนาจ หลังจากไม่มีรัฐบาลอันชอบธรรมมานับตั้งแต่ประธานาธิบดีโมฮัมหมัด เซียด บาร์ ถูกบีบให้ก้าวลงจากอำนาจในช่วงต้นทศวรรษ1990