xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมใหญ่ฟิลิปปินส์ “สัญญาณเตือน” ต้องเร่งแก้ปัญหา “โลกร้อน” อย่างจริงจัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประสบภัยชาวฟิลิปปินส์ขณะรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ น้ำท่วมครั้งใหญ่ในฟิลิปปินส์ เป็นสัญญาณเตือนว่าต้องรีบแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง เนื่องจากไม่เพียงพายุ “กิสนา” ทำให้เกิดฝนตกกระหน่ำหนักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเท่านั้น หากภัยพายุไต้ฝุ่นที่ฟิลิปปินส์เผชิญอยู่ทุกๆ ปี ก็กำลังมีแบบแผนที่เปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมอีกด้วย

แม้ชาวฟิลิปปินส์จะคุ้นเคยกับพายุไต้ฝุ่น ซึ่งกระหน่ำใส่ราวๆ ปีละ 20 ลูกอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” จากพายุ “กิสนา” ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการกว่า 240 คนแล้วนั้น ก็ยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงผิดปกติสำหรับผู้คนในประเทศนี้อยู่นั่นเอง โดยเอเอฟพี ระบุว่า ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง 9 ชั่วโมง ในกรุงมะนิลา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มากกว่าปริมาณฝนจากเฮอร์ริเคนแคทรินา ที่ถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ ของสหรัฐฯในปี 2005 เสียอีก

นอกจากนั้น แอนโธนี โกเลซ ผู้อำนวยการหน่วยงานป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของฟิลิปปินส์ และ พริสโก นิโล อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาของฟิลิปปินส์ ต่างแสดงความพิศวงต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแปลกประหลาดของพายุไต้ฝุ่นลูกต่างๆ ซึ่งถล่มประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โกเลซ ระบุว่า ในเดือน เม.ย.ซึ่งควรจะเป็นฤดูร้อนสำหรับฟิลิปปินส์ แต่กลับมีพายุไต้ฝุ่นถึง 3 ลูกกระหน่ำเข้ามา โดยหนึ่งในนั้นทำให้เกิดเหตุดินถล่ม ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 250 คน บริเวณตอนใต้ของเมืองหลวง นอกจากนั้น พายุไต้ฝุ่นในช่วงเดือน มิ.ย.ยังมีเส้นทางที่เบี่ยงเบนไปจากเส้นทางปกติ โดยเคลื่อนตัวผ่านทางตอนเหนือและส่วนกลางของเกาะลูซอนเป็นครั้งแรก ขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในฟิลิปปินส์ครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมากมายกว่า 12 ล้านคน โดยหลายพื้นที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อน

“เมื่อคุณลองสังเกตข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คุณจะเห็นว่า ปีนี้และปีที่ผ่านมา เป็นปีที่แปลกประหลาดมาก และเราคงต้องสันนิษฐานเอาไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า นี่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โกเลซ กล่าว

ขณะที่ มาร์ก เดีย นักรณรงค์ของกรีนพีซ ให้ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้ โดยเขากล่าวผ่านสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่น “เราไม่อาจกล่าวโทษเหตุการณ์ครั้งนี้เพียงแค่ว่าเกิดจากฝนเท่านั้น เราทราบว่านี่เป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นจริง ไม่ต้องโต้เถียงกันเรื่องนี้อีก นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจำเป็นต้องเตรียมตัว นี่เป็นเพียงประสบการณ์แรกของสิ่งที่จะเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องเตรียมตัวมากกว่านี้ และเราต้องแก้ต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”

ทางด้าน อีโว เดอ โบร์ ประธานสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมเจรจาว่าด้วยโลกร้อน ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า น้ำท่วมในฟิลิปปินส์นั้น เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่โลกต้องตกลงทำสัญญาในการจัดการปัญหาโลกร้อนก่อนเส้นตาย นั่นคือ ภายในการเจรจาที่กรุงโคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก เดือน ธ.ค.นี้

โบร์ กล่าวว่า ข้อตกลงร่วมกันระดับโลก จะเป็นหลักประกันว่า ความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้วอย่างที่เกิดขึ้นนี้จะลดลง ตามผลของนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเจรจาในเวทีของสหประชาชาติกำลังพยายามร่างเนื้อหาของข้อตกลงที่จะลงนามกันในการประชุมโคเปนเฮเกน โดยที่ยังมี 2 ประเด็นหลักๆ ที่ยังตกลงกันไม่ได้ ได้แก่ เรื่องปริมาณในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรื่องการหาเงินมาใช้เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประเทศยากจนที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ

ขณะที่ โฮเซ เบอร์เซลส์ นักมนุษยธรรมและผู้อำนวยการฝ่ายกิจการฉุกเฉินขององค์กรการกุศล “เวิลด์วิชัน” เตือนว่า พายุที่ฟิลิปปินส์เหมือนกับหายนะของผู้ที่ยากจนที่สุดในโลก ซึ่งมักไม่ได้เตรียมการเพื่อรับมือกับพายุ นอกจากนั้น ยังเป็นเสียงปลุกให้โลกตื่นตัวในการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โคเปนเฮเกนในปลายปีนี้

เวิลด์วิชันหยิบยกคำพยากรณ์ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ หรือ ไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่ระบุว่า พายุโซนร้อนกำลังจะมีความรุนแรงขึ้น มีกระแสลมรุนแรงขึ้น และมีพายุฝนหนักขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยขององค์กรการกุศลออกซ์แฟม ของอังกฤษ ซึ่งระบุว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้าจะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นอีก 54% หรือ 375 ล้านคน ที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น