xs
xsm
sm
md
lg

ดับแล้ว 1 เหตุปะทะในฮอนดูรัส - เซลายาขอเจรจาผู้นำเฉพาะกาลตัวต่อตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซลายาและผู้สนับสนุน อยู่ในสถานทูตบราซิลในกรุงเตกูซิกัลปา
เอเจนซี - ชายคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุปะทะระหว่างตำรวจกับกลุ่มผู้สนับสนุน มานูเอล เซลายา ขณะที่รัฐบาลเฉพาะกาลเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติมากขึ้นเพื่อให้คืนอำนาจแก่อดีตประธานาธิบดีผู้ถูกขับไล่ ส่วน เซลายา อาศัยโอกาสนี้เรียกร้องขอเจรจาตัวต่อตัวกับ โรเบอร์โต มิเชเล็ตติ ผู้นำโดยพฤตินัยของฮอนดูรัส

การเสียชีวิตของชายวัย 65 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเซลายา ถือเป็นเหตุเสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดีผู้ถูกขับไล่ ลักลอบกลับสู่ฮอนดูรัสเมื่อวันจันทร์(21) และลี้ภัยอยู่ในสถานทูตบราซิล ทั้งนี้ชายคนดังกล่าวถูกฆ่าในเขตฟลอร์ เดล คัมโป ในกรุงเตกูซิกัลปา ช่วงดึกวันอังคาร(22)

ทหารและตำรวจปราบจลาจลหลายร้อยนาย บางส่วนสวมหน้ากากและติดอาวุธ ปิดล้อมสถานทูตบราซิล สถานที่ที่ เซลายา ใช้ลี้ภัยพร้อมครอบครัวและกลุ่มผู้สนับสนุนราว 40 คน เป็นเวลากว่า 3 วันแล้ว

เฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังความมั่นคงบินอยู่เหนืออาคารสถานทูตบราซิลตลอดทั้งคืน ขณะที่ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าทหารพยายามกักเซลายาและผู้สนับสนุนไว้ในตัวตึก หลังจากก่อนหน้านี้ 1 วันมิเชเล็ตติสั่งการให้ทหารยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาราว 4,000 คน ที่ไปรวมตัวให้กำลังใจบริเวณหน้าสถานทูตบราซิลในกรุงเตกูซิกัลปา พร้อมสั่งตัดน้ำ กระแสไฟฟ้า และสายโทรศัพท์ของสถานทูตเพื่อกดดันให้เซลายายอมมอบตัว

มิเชเล็ตติ ผู้นำเฉพาะกาลของฮอนดูรัส ยืนยันว่าเขาไม่มีเจตนาเผชิญหน้ากับบราซิลหรือเข้าไปยังสถานทูต แม้ว่า เซลายา จะใช้เป็นแหล่งลี้ภัยเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมก็ตาม พร้อมระบุว่าเซลายา ควรมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนการเจรจาใดๆ แต่หากไม่ยอมปฏิบัติตาม เซลายา อยากจะหลบซ่อนตัวในสถานทูตบราซิล 5 หรือ 10 ปีก็ตามใจ

อย่างไรก็ตาม ต่อมา มิเชเล็ตตี ท่าทีอ่อนลง ยอมเสนอการเจรจากับเซลายา แต่มีข้อแม้ว่า เซลายา ต้องยอมรับการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ในการเลือกตั้งวันที่ 29 พฤศจิกายน
 

รัฐบาลเฉพาะกาลฮอนดูรัสขยายเวลาประกาศเคอร์ฟิวออกไปจนถึงวันพฤหัสบดี(24) หลังสามารถควบคุมสถานการณ์ด้านนอกสถานทูตบราซิล ส่วน นายคาร์ลอส โลเปซ รัฐมนตรีต่างประเทศฮอนดูรัส บอกว่า ทางการได้ยอมจ่ายไฟและน้ำบางส่วนไปยังสถานทูตบราซิลแล้ว พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่บุกเข้าไปภายในสถานทูตเพื่อจับกุมตัวนายเซลายา อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเฉพาะกาลฮอนดูรัสจะไม่ยอมทำตามแรงกดดันของภายนอก ที่ต้องการให้คืนตำแหน่งผู้นำประเทศให้กับนายเซลายา อีกครั้ง

ด้าน นายเซลายาบอกว่า เหตุจลาจลระหว่างตำรวจกับกลุ่มผู้สนับสนุนตัวเขาเมื่อวันอังคาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 คน และถูกจับกุมตัวอีกจำนวนมาก แต่ทางการฮอนดูรัสปฏิเสธข้อกล่าวหา

ด้าน เซลายา บอกกับเอเอฟพีเมื่อวันพุธ(23) ว่าเขาหวังได้ "พูดคุยเป็นการส่วนตัว" กับ มิเชเล็ตติ ซึ่งขึ้นสู่อำนาจหลังเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ส่วนความเคลื่อนไหวจากนานาชาติ บราซิล และ เวเนซุเอลา ใช้เวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลเฉพาะกาลฮอนดูรัส คืนอำนาจแก่อดีตผู้นำ

ขณะที่ สหรัฐฯ ในวันพุธ(23) แสดงความยินดีต่อกรณีที่ผู้นำเฉพาะกาลของฮอนดูรัสได้เชิญทูตนานาชาติระดับอาวุโสเยือนประเทศ ในความพยายามคลี่คลายวิฤตที่นั่น

ประธานาธิบดี ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล เรียกร้อง ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในนิวยอร์ก ว่า "ประชาคมนานาชาติต้องการให้มิสเตอร์เซลายา คืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศในทันทีและรัฐบาลเฉพาะกาลฮอนดูรัสต้องรับประกันว่าจะไม่เกิดความรุนแรงขึ้นกับคณะผู้แทนเจ้าหน้าที่ทูตของบราซิล" ลูลา กล่าวเรียกเสียงปรบมือกึกก้องจากที่ประชุม

ส่วน ฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีแห่งเวเนซุเอลา พันธมิตรของเซลายา บอกกับผู้สื่อข่าวในนิวยอร์ก ว่าที่ประชุมสหประชาชาติควรเรียกร้อง เซลายา กลับคืนสู่อำนาจ
ผู้สนับสนุนเซลายา นอนพักเอาแรงในสถานทูตบราซิล หลังถูกทหารปิดล้อม
เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารฮอนดูรัส ปิดล้อมสถานทูตบราซิล
กำลังโหลดความคิดเห็น