xs
xsm
sm
md
lg

อินโดนีเซียยังต้องตามล่า“จอมบงการก่อการร้าย”กันต่อไป

เผยแพร่:   โดย: แพตริก กุนเตนสเปอร์เกอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

The hunt goes on for terror mastermind
By Patrick Guntensperger
12/08/2009

นูร์ดิน โมฮัมหมัด ท็อป มือระเบิดก่อการร้ายตัวฉกาจ ยังคงมีชีวิตลอยนวลอยู่ในอินโดนีเซีย ถึงแม้เจ้าหน้าที่ได้ยกกำลังเข้าจู่โจมเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว และตอนแรกๆ มีรายงานออกมาว่าเขาถูกฆ่าตายแล้ว การที่ท็อปสามารถเคลื่อนไหวอย่างอุกอาจเหิมเกริมครั้งแล้วครั้งเล่าโดยยังไม่ถูกลงโทษ แถมยังระดมหาสมาชิกใหม่ๆ เข้ามาร่วมมือด้วยไม่ขาดสายเช่นนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้แบบใช้ความรุนแรงของเขานั้น น่าจะได้รับความสนับสนุนจากผู้คนระดับรากหญ้าอย่างลึกซึ้งทีเดียว ทุกๆ ขณะที่เขายังคงรอดพ้นเงื้อมมือของทางการ ย่อมเป็นการตอกย้ำเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้อน่าสงสัยดังกล่าวนี้

จาการ์ตา – ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากต่างรู้สึกหายใจหายคอได้คล่องขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อพวกเครือข่ายโทรทัศน์ในท้องถิ่นพากันประกาศว่า เจ้าหน้าที่สามารถเด็ดชีพ นูร์ดิน โมฮัมหมัด ท็อป (Noordin Mohammad Top) ผู้ก่อการร้ายซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในอินโดนีเซีย โดยที่เขาเป็นผู้ที่ต้องสงสัยว่าคือจอมบงการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ณ โรงแรม เจดับเบิลยู แมร์ริออต และ โรงแรม ริตซ์ คาล์ตัน ในกรุงจาการ์ตา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปจำนวนหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว

จากรายงานข่าวที่ทีวีหลายๆ ช่องพากันออกอากาศถ่ายทอดกันสดๆ เลยนั้น ในช่วงต้นๆ มีการระบุว่า ท็อปได้ถูกฆ่าตายระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมบ้านชนบทหลังหนึ่งซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นที่ซ่อนตัวของเขาในจังหวัดชวากลาง แล้วเกิดการต่อสู้กันอยู่เป็นเวลา 16 ชั่วโมง รายงานข่าวเหล่านี้บางชิ้นมีข้อความกำกับเอาไว้ด้วยว่า ตำรวจอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสืบสวน, ติดตามและเข้าล้อมผู้ต้องสงสัยรายนี้เอาไว้นั้น ยังไม่ได้มีการแถลงยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการว่า ท็อปถูกจับกุมหรือถูกฆ่าตาย

กระนั้นก็ตาม สื่อมวลชนระหว่างประเทศก็เลือกที่จะกระจายข่าวเรื่องท็อปถูกสังหารออกไปอย่างกว้างขวาง แล้วยังถูกนำมาขยายผลกันต่อภายในอินโดนีเซียอีกด้วย ปัญหามีอยู่เพียงประการเดียว นั่นก็คือ ท่าทีแบบไม่ยืนยันให้มั่นเหมาะของฝ่ายตำรวจ กลับกลายเป็นการเดินหมากทางการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้องเหมาะสมไปเสียฉิบ

ท็อปนั้นความจริงแล้วเกิดและเติบโตในมาเลเซีย แต่ปฏิบัติการก่อการร้ายที่เป็นข่าวโด่งดังของเขาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นมือทำระเบิดตัวฉกาจและมือหาเงินตัวหลักให้แก่กลุ่มญะมาอะห์ อิสลามิยะห์ (Jemaah Islamiyah หรือ JI) กลุ่มก่อการร้ายที่มีความเกี่ยวพันกับอัลกออิดะห์ ก่อนที่เขาจะแยกออกมาตั้งกลุ่มของเขาเองซึ่งนิยมใช้ความรุนแรงมากกว่ากลุ่มเจไอเดิมเสียด้วยซ้ำ ท็อปกลายเป็นหนึ่งในอาชญากรซึ่งเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในเอเชีย แต่เขาก็ดูเหมือนจะมีเครือข่ายผู้ที่นับถือศรัทธาเขาภายในอินโดนีเซีย และมีอำนาจในการเกลี้ยกล่อมจูงใจคนได้อย่างแปลกประหลาด โดยทำให้ผู้คนไม่เพียงยอมช่วยเหลือซ่อนตัวเขาจากผู้ไล่ล่าเท่านั้น แต่ยังเข้าร่วมในการโจมตีแบบฆ่าตัวตายอันเอิกเกริกเกรียวกราวกับเขาอีกด้วย

เชื่อกันว่าเขาคือจอมบงการที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตีครั้งร้ายแรงที่เกาะบาหลีเมื่อปี 2002, การระเบิดโรงแรม เจดับเบิลยู แมร์ริออต จาการ์ตาในปี 2003, การระเบิดที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในจาการ์ตาปี 2004, การก่อเหตุระเบิดที่บาหลีอีกระลอกในปี 2005, และครั้งล่าสุด คือการก่อเหตุระเบิดครั้งที่สองเล่นงานโรงแรม เจดับเบิลยู แมร์ริออต จาการ์ตา และ โรงแรม ริตซ์ คลาร์ลตัน ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามคนละฟากถนน สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (The United States Federal Bureau of Investigation หรือ FBI) พูดถึงเขาเอาไว้ว่า เป็น “เจ้าหน้าที่, นักหาสมาชิกใหม่, มือทำระเบิด, และครูฝึก ให้แก่กลุ่มญะมาอะห์ อิสลามิยะห์”

พวกอิสลามิสต์ในอินโดนีเซีย ได้ออกคำแถลงข้อความเบาโหวงกันอยู่เป็นระยะๆ ระบุว่าการก่อการร้ายใช้ความรุนแรงตามแบบฉบับของท็อปนั้น ไม่ได้สะท้อนถึงทัศนะของชาวมุสลิมอินโดนีเซียส่วนใหญ่เลย และอิสลามคือศาสนาแห่งสันติภาพ ทว่าการที่ท็อปดูเหมือนจะได้รับความสนับสนุนจากผู้คนในระดับรากหญ้าจำนวนมาก ทำให้ผู้สังเกตการณ์ต่างตั้งคำถามเอากับคำแถลงเหล่านี้

การที่ท็อปยังคงสามารถเคลื่อนไหวไปทั่วประเทศอินโดนีเซียโดยไม่ได้ถูกเล่นงานลงโทษอะไร พร้อมกันนั้นก็สามารถที่จะหาวัสดุต่างๆ สำหรับการทำระเบิด, หาสถานที่, ยานพาหนะ, ที่พำนักพักพิง, การเงิน, และสมาชิกใหม่ๆ ทั้งที่ถูกขึ้นบัญชีเป็น “บุคคลที่ต้องการตัวมากที่สุด” ในทุกๆ บัญชีในเอเชียและต่างแดน เหล่านี้คือเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า แรงสนับสนุนอุดมการณ์แห่งการใช้ความรุนแรงของเขานั้น มีรากฐานอันลึกซึ้งยิ่งกว่าที่พวกนักปฏิเสธเหล่านี้จะต้องการให้ใครๆ เชื่อถือกัน ทุกๆ ขณะที่เขายังคงรอดพ้นเงื้อมมือของทางการ ย่อมเป็นการตอกย้ำเพิ่มน้ำหนักให้แก่ความสงสัยดังกล่าวนี้

ขณะเดียวกัน พวกสื่อมวลชนท้องถิ่นก็มีงานภาคสนามทำกันอย่างเต็มไม้เต็มมือทีเดียว ในการติดตามรายงานข่าวการไล่ล่าบุคคลที่ตอนแรกเข้าใจกันว่าคือท็อป เมื่อกำลังตำรวจของอินโดนีเซียเข้ารายล้อมบ้านชนบทหลังหนึ่งในตำบลเตมังกุง (Temanggung) ของจังหวัดชวากลาง ซึ่งเชื่อกันว่าท็อปกำลังใช้เป็นที่หลบซ่อนตัว เครือข่ายและสถานีโทรทัศน์ทุกๆ แห่งในอินโดนีเซียที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการออกอากาศระบบทางไกล ต่างพากันตัดสินใจถ่ายทอดการไล่ล่าและการต่อสู้คราวนี้กันแบบสดๆ

ปรากฏว่าการรายงานข่าวเหตุการณ์คราวนี้ ทำท่าจะกลายเป็นเรื่องระดับตำนานสำหรับสื่อมวลชนอินโดนีเซียทีเดียว มันได้เร่งรัดให้พวกบริษัททีวีที่เป็นคู่แข่งกันต้องต่อสู้ช่วงชิงกันเสนอข่าวให้ได้ก่อนคนอื่นๆ ถึงขั้นทำให้มีการรายงานข่าวลือและประเด็นน่าสงสัยทุกๆ อย่างเหมือนกับว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานรองรับหนักแน่น และแล้วก็ปรากฏออกมาว่าศพของชายที่เสียชีวิตระหว่างการยิงต่อสู้กันกับตำรวจนั้น แม้น่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายจริงๆ โดยเป็นไปได้มากทีเดียวว่าจะเป็นคนที่กลุ่มของท็อปชักชวนให้เข้ามาเป็นสมาชิก ทว่ามันก็ไม่ใช่ตัวท็อปเองอย่างแน่นอน ตอนนี้ดูจะเป็นที่กระจ่างชัดเจนแล้วว่า เขาไม่ได้อยู่ในบ้านหลังดังกล่าวด้วยซ้ำในเวลาที่ตำรวจเข้าปิดล้อม และกระทั่งอาจจะไม่เคยอยู่ที่บ้านหลังนั้นเลยก็ได้

พวกตำรวจได้ประณามกล่าวโทษสื่อมวลชนว่าเป็นต้นเหตุของความสับสนวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา พวกเขาอ้างว่าการรายงานข่าวกระทำกันในลักษณะที่ก้าวร้าวอย่างเกินเลยไปมาก เป็นการละเมิดและแทรกแซงการปฏิบัติการของตำรวจ ทั้งนี้มีการชี้นิ้วออกมาด้วยว่า การที่พวกนักข่าวเข้าไปอยู่ใกล้กับจุดปฏิบัติการของตำรวจ ตลอดจนการถ่ายทอดสดออกอากาศเหตุการณ์คราวนี้นี่แหละ ทำให้การประจันหน้าระหว่างคนร้ายกับตำรวจต้องยืดเยื้อออกไป และทำให้พวกผู้ก่อการร้ายที่ถูกปิดล้อมอยู่ ได้รับข่าวกรองอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ของตำรวจ

การเสนอข่าวแบบเชิงรุกเต็มที่ของสื่อมวลชนในคราวนี้ ยังทำให้ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ของอินโดนีเซีย ออกมาเรียกร้องให้สื่อมวลชนใช้สติในการรับมือกับเหตุการณ์ทำนองนี้ รวมทั้งควรพิจารณาถึงผลกระทบที่จะมีต่อการปฏิบัติการของตำรวจจากการรายงานข่าวของพวกเขา ทางด้านสภาการหนังสือพิมพ์ของอินโดนีเซียก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า พวกนักข่าวที่ทำข่าวการไล่ล่าและการยิงต่อสู้กันคราวนี้ ได้แสดงพฤติการณ์หลายๆ อย่างให้เห็น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะไร้ความเป็นนักวิชาชีพ

ในประเทศเฉกเช่นอินโดนีเซีย ที่เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ยังถือเป็นประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน วิธีทำข่าวแบบเกินเลยไร้สติของสื่อมวลชนในเหตุการณ์คราวนี้ จึงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นการบ่อนทำลายการปฏิรูปตลอดจนบ่อนทำลายเสรีภาพต่างๆ เหล่านี้ในอนาคต กระทั่งก่อนเกิดเหตุการณ์คราวนี้ รัฐบาลก็แสดงท่าทีลังเลยังไม่อยากปล่อยให้หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพกันอย่างเต็มที่ โดยที่เวลานี้ในประมวลกฎหมายอาญา ยังคงมีหมวดต่างๆ อย่างน้อย 6 หมวด ซึ่งเปิดทางให้ลงโทษจำคุกแก่ผู้ที่ตีพิมพ์เผยแพร่เอกสารต่างๆ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้นมักหยิบยกเหตุผลเรื่องสื่อมวลชนขาดจริยธรรมและไร้ซึ่งความเป็นนักวิชาชีพ มาสนับสนุนให้คงบทลงโทษเหล่านี้เอาไว้ต่อไป

การรายงานข่าวการปิดล้อมและยิงต่อสู้กันคราวนี้ ยังทำท่าจะเพิ่มอันตรายในอีกด้านหนึ่ง นั่นคือมันจะเป็นการตอกย้ำความตึงเครียดที่มีกันอยู่แล้วระหว่างตำรวจกับสื่อมวลชน ในตอนแรกทีเดียวตำรวจได้รับการยกย่องเชิดชูจากสื่อ สืบเนื่องจากความสำเร็จในการเล่นงานผู้ก่อการร้ายที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุด แต่แล้วต่อมาสื่อก็กลับหันมากล่าวประณามติเตียนตำรวจว่าเป็นพวกอยากดังที่หิวกระหายชื่อเสียงและเกียรติประวัติซึ่งตัวเองไม่สมควรที่จะได้รับ

ทางฝ่ายตำรวจได้ตอบโต้กลับว่า จุดยืนอย่างเป็นทางการของพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้นเลยก็คือ ไม่ได้มีการยืนยันเลยว่าสามารถจับกุมหรือสังหารท็อปได้แล้ว และรายงานข่าวต่างๆ ที่อ้างว่าตำรวจพูดยืนยันเช่นนี้ก็ล้วนเป็นการคาดเดาเอาเองและเป็นข่าวลือทั้งนั้น กระนั้นก็ตาม พวกนักข่าวระบุว่าการที่พวกเขารายงานเรื่องท็อปเสียชีวิต ก็เนื่องมาจากข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งข่าวต่างๆ ภายในฝ่ายตำรวจที่ขอร้องไม่ให้ระบุชื่อเสียงเรียงนามออกมานั่นเอง

ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายอย่างน้อย 1 คนได้ถูกเด็ดชีพไปแล้ว และกลุ่มย่อยอย่างน้อย 1 กลุ่มในเครือข่ายของท็อปก็ถูกติดตามและถูกกวาดล้างไปได้สำเร็จ แต่พวกนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงยังคงเชื่อกันว่า อินโดนีเซียยังจะถูกโจมตีจากพวกผู้ก่อการร้ายอีกในอนาคตอย่างแน่นอน พวกเขากระทั่งยืนยันว่า หากท็อปถุกจับกุมหรือถูกสังหารจริงๆ ภัยคุกคามโดยรวมก็จะลดต่ำลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อันซาอัด เอ็มไบ (Ansaad Mbai) หัวหน้าแผนกต่อต้านการก่อการร้าย แห่งสำนักงานรัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการการเมือง, กฎหมาย, และความมั่นคง กล่าวว่า “แม้กระทั่งว่าข่าว [ท็อป]ถูกฆ่าตายในระหว่างการจู่โจมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศของเรายังคงตกอยู่ภายใต้การคุกคามอย่างจริงจังของการก่อการร้าย” เขาบอกต่อไปว่า การสังหาร [ท็อป] เพียงแต่จะชะลอการโจมตีของผู้ก่อการร้ายให้เนิ่นช้าออกไปอีกหน่อย ทว่าอีกไม่นานสาวกของเขาก็จะรวมกันกันขึ้นมาใหม่อีกครั้งและวางแผนโจมตีกันมากขึ้นอีก”

จากการที่ท็อปยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้เสียชีวิตและยังลอยนวลไม่ได้ถูกจับกุม ความเสี่ยงดังกล่าวนี้จึงดูจะกำลังเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

แพตริก กุนเตนสเปอร์เกอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์และผู้ฝึกอบรมวิชาการหนังสือพิมพ์ เขาพำนักอยู่ในกรุงจาการ์ตา สามารถติดตามอ่านบล็อกของเขาได้ที่ http://pagun-view.blogspot.com
กำลังโหลดความคิดเห็น