เอเจนซี - ศึกชิงอำนาจกันระหว่าง "โฟล์ค" กับ "ปอร์เช่" ที่ขับเคี่ยวยืดเยื้อมาเป็นแรมปี ทำท่าลงเอยในวันพฤหัสบดี(23) โดยที่ "ปอร์เช่" เป็นฝ่ายแพ้ ยอมประกาศปลดซีอีโอของตนผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้คราวนี้ เพื่อเปิดทางให้ "โฟล์คสวาเกน" เข้ามาควบรวมกิจการของบริษัทได้
แต่ขณะเดียวกันปอร์เช่ก็ยังหาทางเพิ่มฐานะของตนในการต่อรองกับโฟล์ค ด้วยการแถลงว่าจะระดมเพิ่มทุนอย่างน้อย 5,000 ล้านยูโร ด้วยการออกหลักทรัพย์มาขาย ในช่วงเวลาที่บริษัททั้งสองเตรียมตัวที่จะก่อตั้ง "กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่เกิดจากการรวมตัวเข้าด้วยกัน"
ทางด้านโฟล์กดูจะตรงไปตรงมากกว่า โดยแถลงว่าวางแผนจะซื้อหุ้นในบริษัทปอร์เช่ เอจี อันเป็นธุรกิจรถสปอร์ตที่มีความเข้มแข็งทางการเงินของกลุ่มปอร์เช่ และจะ "ทยอย" เพิ่มการถือหุ้นนี้ไปเรื่อยๆ
ขณะที่ คริสเตียน วูลฟ์ นายกรัฐมนตรีของรัฐซัคเซิน-อันฮัลต์ (แซกโซนีล่าง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองของโฟล์ค กล่าวขยายความว่า โฟล์คกับปอร์เช่จะควบรวมกิจการกันเสร็จสมบูรณ์ในราวกลางปี 2011
พร้อมกันนั้นเขาก็บอกว่า เชื่อว่าจะสามารถกำหนดหลักการรายละเอียดของข้อตกลงนี้ได้ ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของโฟล์คในวันที่ 13 สิงหาคมนี้
วูลฟ์ชี้ว่า กาตาร์ ซึ่งเป็นรัฐริมอ่าวอาหรับ เตรียมจะเข้าซื้อแพกเกจตราสารอนุพันธ์ทางการเงินซึ่งควบคุมหุ้นจำนวน 17% ของโฟล์ค อันจะเป็นการช่วยผ่อนเบาปัญหาการเงินของปอร์เช่ให้คลี่คลายลงไปอีก นอกจากนั้นการ์ตายังอาจเพิ่มหุ้นของตน ด้วยการเข้าถือครองหุ้นบุริมสิทธิ์ที่ไม่มีสิทธิออกเสียง
ปอร์เช่นั้นสะสมหนี้สินเอาไว้กว่า 10,000 ล้านยูโร ในช่วงที่พยายามจะเข้าถือครองหุ้น 75% ของโฟล์ค แต่แล้วภาระหนี้ดังกล่าวก็ทำให้ปอร์เช่จำต้องยกเลิกแผนซื้อหุ้นโฟล์คเพิ่มเมื่อต้นปีนี้ และหันมาเปิดการเจรจาเพื่อควบรวมกิจการกันแทน
ทว่าความไม่ลงรอยระหว่างสองบริษัท ในเรื่องที่ว่าข้อตกลงนี้ควรจะมีโครงสร้างอย่างไร ก็ทำให้การเจรจาชะงักงัน
ความไม่ลงรอยดังกล่าวมีต้นตอจาก เวนเดลิน วีเดคิง ซีอีโอเก่าแก่ของปอร์เช่นั้นคือผู้ซึ่งวางแผนเข้าฮุบโฟล์คที่ล้มเหลวลงไป หลังจากนั้นเขาก็ยังคัดค้านการขายปอร์เช่ให้โฟล์คอยู่ดี ทั้งนี้คู่ปรับในโฟล์คที่เขาปะทะด้วยตลอดมาก็คือ เฟอร์ดินานด์ พีช ประธานวัย 72 ปีของโฟล์ค อีกทั้งเป็นหลานชายของ เฟอร์ดินาน ปอร์เช่ ผู้ก่อตั้งบริษัทปอร์เช่
เมื่อเช้าวันพฤหัสบดี ปอร์เช่ออกมาแถลงว่า วีเดคิง ที่เป็นซีอีโอมาถึง 16 ปี และเชื่อกันว่าเป็นผู้บริหารที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดในเยอรมนี จะออกจากบริษัทไปโดยมีผลทันที พร้อมด้วย โฮลเกอร์ ฮาแอร์เทอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงิน
เวลาต่อมาของวันเดียวกัน วีเดคิงได้กล่าวกับพนักงานซึ่งชุมนุมกันที่โรงงานของปอร์เช่ ในเมืองซุฟเฟนเฮาเซน ประเทศเยอรมนี วีเดคิงบอกว่าเขาตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้ปอร์เช่ก้าวผ่านภาวะยากลำบาก เพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม การออกจากปอร์เช่ของเขาและฮาแอร์เทอร์ ยังคงมีรสหวานชื่นอยู่พอสมควร เนื่องจากตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ทั้งสองคนจะได้รับเงินชดเชย 50 ล้าน และ 12.5 ล้านยูโรตามลำดับ ต่อมา วีเดคิงซึ่งถูกสื่อเยอรมนีวิพากษ์มาตลอดเรื่องได้เงินเดือนแพงลิ่ว ก็ออกคำแถลงบอกว่า เงินชดเชยที่ได้มานี้หลังหักภาษีแล้วเขาจะใช้เพื่อการกุศล
ทางด้าน ไมเคิล มัคท์ ผู้เข้ารับตำแหน่งซีอีโอสืบต่อจากวีเดคิง แถลงว่า เวลานี้ปอร์เช่จำเป็นต้องทำข้อตกลงกับโฟล์คให้สำเร็จ โดยต้องเป็นข้อตกลง "แบบเท่าเทียมกัน" ขณะที่ มาร์ติน วิตเทอร์คอร์น ซีอีโอของโฟล์คให้คำมั่นว่า ปอร์เช่จะยังคงเป็นแบรนด์อิสระภายในกลุ่มโฟล์คสวาเกน ในลักษณะเดียวกับแบรนด์ออดี้
ทางด้าน โวล์ฟกัง ปอร์เช่ ประธานบริษัทบอกว่า ปอร์เช่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้สามารถรักษาความเป็นอิสระของปอร์เช่ได้ต่อไปในอนาคต ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการการผลิตชั้นนำระดับโลก อีกทั้งยังกล่าวขณะพยายามกลั้นน้ำตาไว้ว่า ตำนานของปอร์เช่จะไม่มีวันเสื่อสูญ
หากโฟล์คซื้อปอร์เช่ได้สำเร็จเรียบร้อย ปอร์เช่ก็จะกลายเป็นแบรนด์รถยนต์แบรนด์ที่ 10 ในอาณาจักรโฟล์ค และจะทำให้โฟล์คพรักพร้อมยิ่งขึ้นที่จะต่อสู้กับโตโยต้าเพื่อชิงตำแหน่งผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลก