บีบีซีนิวส์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สนามนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ไม่เคยขาดเขินเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งโต้เถียงกันเลย
สนามบินแห่งนี้ซึ่งดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2002-2006 สมัยที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการครั้งแล้วครั้งเล่า ท่ามกลางข่าวฉาวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งข้อวิจารณ์ต่างๆ นานาเกี่ยวกับการออกแบบและการก่อสร้างที่มีคุณภาพต่ำ
เวลานี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็กำลังเจอข้อหาใหม่ๆ ที่ว่า ทุกๆ เดือนจะมีผู้โดยสารจำนวนหนึ่งถูกกักตัวที่บริเวณร้านค้าปลอดภาษี ด้วยข้อหาต้องสงสัยว่าขโมยของในร้าน หลังจากนั้นพวกเขาก็จะถูกตำรวจควบคุมตัวจนกว่าจะยอมเสียเงินก้อนโตเพื่อแลกกับอิสรภาพ
เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นกับสตีเฟน อินแกรม และซี หลิน 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีจากเคมบริดจ์ ซึ่งกำลังรอขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปที่ลอนดอนในช่วงคืนวันที่ 25 เมษายนปีนี้
ทั้งสองได้เดินชมสินค้าในร้านปลอดภาษีที่สนามบินแห่งนี้ และต่อมาก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหลายคนเข้ามาหา โดยพูดจาอยู่สองครั้งเพื่อขอตรวจกระเป๋าของพวกเขา ทั้งคู่ได้รับคำบอกเล่าว่ามีกระเป๋าเงินใบหนึ่งของร้านหายไป และกล้องวงจรปิดจับภาพได้ว่าหลินเป็นคนหยิบเดินออกไปจากร้าน
หลังจากนั้น “คิงเพาเวอร์” บริษัทเจ้าของร้านปลอดภาษีแห่งนี้ ก็ได้นำภาพวิดีโอจากกล้องซีซีทีวีไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ของตน ซึ่งเป็นภาพที่ดูเหมือนแสดงให้เห็นว่าเธอกำลังใส่อะไรบางอย่างเข้าไปในกระเป๋าของเธอ อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยค้นไม่พบกระเป๋าเงินใดๆ จากบุคคลทั้งสอง
กระนั้นก็ตาม ทั้งสองก็ถูกนำตัวออกจากประตูผู้โดยสารขาออก แล้วย้อนกลับไปทางแผนกตรวจคนเข้าเมือง และในที่สุดก็ถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตำรวจสนามบิน นั่นคือตอนที่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงของพวกเขากลายเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวขึ้นมา
**ล่าม**
“เราถูกสอบสวนโดยแยกกันคนละห้อง” อินแกรมเล่า “เรารู้สึกจริงๆ ว่านี่คือการขู่กรรโชก พวกเขาค้นกระเป๋าของเราและสั่งให้เราบอกว่ากระเป๋าเงินอยู่ที่ไหน”
จากนั้นคนทั้งสองก็ถูกส่งเข้าไปอยู่ในห้องขังที่อินแกรมบรรยายสภาพว่า “ร้อน ชื้น มีกลิ่นเหม็น และบนกำแพงก็มีภาพขีดเขียนและมีรอยเลือดด้วย”
อินแกรมพยายามติดต่อโทรศัพท์ไปยังสายด่วนของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งเขาพบในหนังสือคู่มือเดินทาง และได้รับคำตอบว่าจะมีคนจากสถานทูตประจำกรุงเทพฯมาช่วยเหลือ
เช้าวันรุ่งขึ้นทั้งสองก็ได้พบกับล่ามชาวศรีลังกาชื่อ “โทนี” ซึ่งบอกว่าทำงานพาร์ตไทม์ให้กับตำรวจ โทนีได้พาทั้งสองไปพบกับผู้บังคับบัญชาตำรวจท้องถิ่น แต่ ตลอดเวลา 3 ชั่วโมง พวกเขาพูดกันแต่เรื่องจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพื่อให้พ้นจากคุก
ทั้งสองได้รับแจ้งว่าข้อกล่าวหานั้นรุนแรงมาก หากไม่ยอมจ่ายเงิน ทั้งคู่จะต้องถูกย้ายไปขังคุกที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหด และต้องรอกันถึง 2 เดือนระหว่างดำเนินกระบวนการทางคดี
อินแกรมกล่าวว่าพวกเขาถูกเรียกเงิน 7,500 ปอนด์ (ประมาณ 423,750 บาท) เพื่อให้ตำรวจดำเนินเรื่องให้เขาสามารถเดินทางกลับอังกฤษได้ทันงานศพของมารดาในวันที่ 28 เมษายน แต่เขาไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวให้ได้ทันเวลา
**แผนหลอกลวงแบบซิกแซ็ก**
จากนั้นโทนีพาทั้งสองไปที่ตู้เอทีเอ็มในสถานีตำรวจ หลินถอนเงินในบัญชีของเธอได้เพียง 600 ปอนด์ ส่วนอินแกรมมี 3,400 ปอนด์ เงินทั้งหมดถูกส่งให้กับตำรวจโดยถือเป็น “เงินค่าประกันตัว” แล้วทั้งสองก็ถูกชี้ให้เซ็นเอกสารจำนวนหนึ่ง
ต่อมาทั้งคู่ได้รับอนุญาตให้ไปพักในโรงแรมชั้นเลวแห่งหนึ่งภายในเขตสนามบิน ทั้งสองถูกยึดหนังสือเดินทาง และได้รับคำเตือนไม่ให้หลบหนีหรือพยายามติดต่อทนายหรือสถานทูตของตน
“ผมจะคอยเฝ้าพวกคุณอยู่” โทนีบอกและว่าพวกเขาจะต้องอยู่ที่นี่จนกว่าจะมีเงินโอนเข้าบัญชีของโทนีครบ 7,500 ปอนด์
ในวันจันทร์ทั้งสองสามารถหลบหนีขึ้นแท็กซี่เข้ากรุงเทพฯ และพบเจ้าหน้าที่ของสถานทูตอังกฤษ ซึ่งช่วยจัดหาทนายคนไทยให้ และยังบอกว่าทั้งสองตกเป็นเหยื่อกลโกงคลาสสิกของไทยที่เรียกว่า “ซิกแซ็ก”
ทนายของพวกเขาแนะให้เปิดโปงแฉโพยโทนี แต่ก็เตือนพวกเขาด้วยว่าหากพวกเขาต่อสู้คดีก็อาจใช้เวลาหลายเดือน และเสี่ยงที่จะถูกลงโทษติดคุกนาน
หลังจากนั้นห้าวัน พวกเขาก็โอนเงินเข้าบัญชีของโทนีครบจำนวนและได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับอังกฤษ
แม้ว่าอินแกรมจะไปไม่ทันงานศพคุณแม่ของเขา แต่อย่างน้อยทั้งสองก็ได้รับเอกสารยืนยันจากศาลว่าพวกเขาไม่ถูกต้องข้อหา เนื่องจากไม่มีหลักฐาน
“มันเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวและเครียดมาก” เขาเล่า และมาถึงตอนนี้ทั้งสองก็ต้องการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกเงินคืน
**กลโกงแบบ“พื้นๆ”**
โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่รายงานเรื่องนี้บอกว่า ได้คุยกับโทนีและ พ.ต.อ.ธีรเดช ภาณุพัน (Colonel Teeradej Phanuphan) ผู้บังคับบัญชาตำรวจในเขตนั้น ซึ่งเล่าว่าโทนีเพียงแต่ช่วยในเรื่องการแปล และได้เรียกเงินประกันเพื่อช่วยคนทั้งสองให้ออกจากคุก
โทนีบอกอีกว่าราวครึ่งหนึ่งของเงิน 7,500 ปอนด์เป็นค่าประกันตัว ส่วนที่เหลือเป็น “ค่าธรรมเนียม” สำหรับการประกันตัว และค่าทำงานของเขา รวมทั้งค่าทนาย ซึ่งเขาบอกว่าเขาต้องปรึกษาหารือเพื่อช่วยเหลือคนทั้งสอง
พ.ต.อ.ธีรเดชกล่าวว่าจะสอบสวนหาข้อพิรุธในกรณีดังกล่าว ทว่า การตกลงระหว่างคนทั้งสองกับโทนีเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางตำรวจแต่อย่างใด
จากจดหมายร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ส่งไปถึงหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่ามีผู้โดยสารถูกกักตัวที่สนามบินด้วยข้อกล่าวหาว่าขโมยของอยู่เสมอ และจะต้องจ่ายเงินให้กับคนกลางเพื่อแลกกับอิสรภาพ
สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กแถลงว่า เมื่อเร็วๆ นี้ชาวเดนมาร์กคนหนึ่งก็ตกเป็นเหยื่อกลโกงแบบเดียวกันนี้ และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ชาวไอริชคนหนึ่งหลบหนีออกจากประเทศไทยไปได้พร้อมกับสามีและบุตรชายวัยหนึ่งขวบ หลังจากที่ถูกกล่าวหาว่าขโมยที่เขียนขอบตาราคาราว 17 ปอนด์
โทนีบอกกับบีบีซีว่าในช่วงปีนี้เขาได้ “ช่วยเหลือ” ชาวต่างประเทศราว 150 คนที่มีปัญหากับตำรวจ และบางครั้งเขายังช่วยเหลือโดยไม่คิดเงินด้วยซ้ำไป ส่วนสถานทูตอังกฤษได้เตือนผู้โดยสารที่สนามบินในกรุงเทพฯ ให้ระมัดระวังและอย่าโยกย้ายสินค้าในร้านปลอดภาษีหากไม่คิดจะซื้อ เพราะอาจถูกจับกุมและมีโทษถึงจำคุก