xs
xsm
sm
md
lg

อิรักเปิดประมูลแหล่งน้ำมัน-ก๊าซครั้งแรกหลังUSรุกรานยึดครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานกำลังตรวจท่อน้ำมันในเมืองดาฮุกของอิรัก ข่าวรายงานว่าทั้งๆ ที่ยังคงมีเหตุระเบิดและความรุนแรงคุกรุ่นอยู่ในอิรักก็ยังมีบริษัทชั้นนำสนใจเข้าไปลงทุนด้านน้ำมัน
เอเจนซี- อิรักเปิดการประมูลแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดยักษ์รวม 8 แห่งเมื่อวันอังคาร(30) โดยมีบริษัทน้ำมันชั้นนำจากทั่วโลกรีบส่งตัวแทนไปยังกรุงแบกแดดเพื่อชิงสัมปทานการพัฒนาแหล่งพลังงานนาน 20 ปี ทั้งๆ ที่ยังคงมีเหตุระเบิดและความรุนแรงคุกรุ่นอยู่ในอิรักในห้วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ เริ่มถอนกำลังทหารออกจากเขตตัวเมืองตามกำหนดเส้นตาย อย่างไรก็ตาม ผลการประมูลคราวแรกนับแต่ถูกสหรัฐฯรุกรานยึดครองในปี 2003 นี้ ออกมาอย่างไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก

ตัวแทนจากบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ เช่น เอซซอน โมบิล และโทแทลต่างขึ้นเครื่องบินส่วนตัวเดินทางไปยังกรุงแบกแดดของอิรัก เพื่อเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ ด้วยความมุ่งหวังเพื่อเข้าไปสร้างฐานที่มั่นในประเทศที่อาจจะมีแหล่งพลังงานสำรองที่ยังไม่ได้ขุดเจาะเป็นปริมาณมากที่สุดในโลกด้วย

ถึงแม้บริษัทน้ำมันเหล่านี้ จะต้องเผชิญปัญหายุ่งยากจากประเด็นโต้แย้งที่กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากมีส.ส.ของอิรักบางคนประณามการประมูลดังกล่าวว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และแม้แต่คนในอุตสาหกรมน้ำมันของอิรักเองบางคนก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการขายความมั่งคั่งในแหล่งน้ำมันของอิรักไปโดยหวังแต่กำไรระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนของอิรักถูกขับไล่ออกไปเมื่อราว 6 ปีก่อน ทำให้ศักยภาพด้านอุตสาหกรรมน้ำมันของอิรักต้องตกต่ำลง การประมูลครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับกระทรวงกิจการน้ำมันของอิรักที่ถูกแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากเวลานี้อิรักผลิตน้ำมันได้เพียง 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อิรักนั้นมีแหล่งน้ำมันสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วเป็นปริมาณสูงถึง 115,000 ล้านบาร์เรล จัดว่าใหญ่เป็นอันดับสามของโลก แต่คาดหมายกันว่าปริมาณแท้จริงที่ซ่อนอยู่ใต้ท้องทะเลทรายเวิ้งว้างของอิรักน่าจะสูงกว่านี้อีก

การประมูลได้เลื่อนกำหนดการออกไปหนึ่งวันเนื่องจากเกิดพายุทราย แต่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์จากโรงแรมแห่งหนึ่งใน "กรีนโซน" ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในกรุงแบกแดด ทั้งนี้ก็เพื่อยืนยันถึงความโปร่งใสอย่างเต็มที่ในกระบวนการประมูลของทางการนั่นเอง

นอกจากนั้น ทางการอิรักยังระบุว่าจะไม่มีการให้สิทธิพิเศษหรือตัดสิทธิของบริษัทน้ำมันที่มาจากประเทศที่บุกยึดอิรักในปี 2003 ซึ่งส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนและการนองเลือดเป็นเวลาหลายปี

แหล่งพลังงานที่จะเปิดประมูล 8 แห่งนี้ประกอบด้วย แหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของอิรัก 6 แห่งซึ่งมีการขุดเจาะน้ำมันแล้ว และแหล่งก๊าซธรรมชาติอีกสองแห่ง ซึ่งแทบจะยังไม่ได้เริ่มใช้งาน โดยเปิดประมูลไปทีละแหล่งไปตลอดทั้งวัน

อย่างไรก็ดี เมื่อเปิดการประมูลกันจริงๆ ก็เห็นชัดเจนว่าฝ่ายรัฐบาลอิรักกับฝ่ายบริษัทที่เข้าประมูล มีความเห็นแตกต่างกันมากในเรื่องราคาที่เหมาะสม

ปรากฏว่ากลุ่มร่วมค้าที่นำโดยบริษัทบีพีแห่งอังกฤษ และมีบริษัทซีเอ็นพีซีของจีนรวมอยู่ด้วย เป็นผู้ชนะได้สิทธิเข้าไปพัฒนาแหล่ง รูมาอิลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันใหญ่ที่สุดที่คาดว่ามีน้ำมันดิบอยู่ 17,000 ล้านบาร์เรลโดยตั้งอยู่ทางใต้ของประเทศ ทว่ากลุ่มนี้ได้ชัยก็หลังจากอีกกลุ่มหนึ่งที่นำโดยเอซซอน โมบิล ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอเรื่องค่าธรรมเนียมต่อบาร์เรลของรัฐบาลไปก่อนแล้ว

ขณะที่แหล่งก๊าซ มันซูริยะห์ ไม่มีผู้เสนอราคาเข้าประมูลเลย ส่วนแหล่งน้ำมัน ไบ ฮัสซัน ที่อยู่ในจังหวัดเคอร์คุกทางภาคเหนือ ซึ่งกำลังมีปัญหายื้อแย้งกันอยู่ระหว่างรัฐบาลชาวเคิร์ดที่มีสิทธิกึ่งปกครองตนเอง กับรัฐบาลกลางในกรุงแบกแดด ก็มีผู้ยื่นประมูลเพียงรายเดียว คือ พันธมิตรที่นำโดยโคโนโคฟิลลิปส์

สำหรับแหล่งน้ำมัน ซูไบร์ ที่มีน้ำมันดิบราว 4,000 ล้านบาร์เรลนั้น ทางการอิรักได้รับการเสนอราคาประมูลรวม 4 ราย คือ กลุ่มที่นำโดยบีพี, กลุ่มที่นำโดย โอเอ็นจีซีแห่งอินเดีย, กลุ่มที่นำโดย อีนิ แห่งอิตาลี, และกลุ่มที่นำโดยเอซซอน โมบิล

อิรักยังมีกำหนดจัดการประมูลรอบใหม่ในช่วงเวลาต่อไปของปีนี้ โดยคาดกันว่าน่าจะเป็นที่สนใจของพวกบริษัทน้ำมันยิ่งกว่าคราวนี้อีก เนื่องจากแหล่งน้ำมันที่จะนำมาประมูลสัมปทานกันจะเป็นแหล่งใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น