เอเอฟพี – อุตสาหกรรมการธนาคารของยุโรปยังไม่พ้นอันตราย นี่คือข้อความโดดเด่นชัดเจน ที่ถูกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกจากหลายฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไล่ตั้งแต่คำเตือนเรื่องหนี้เสียกองโตจากอีซีบี ไปจนถึงการประเมินของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำที่ว่าแบงก์บางแห่งอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาพปัจจุบัน
นอกจากนั้น ภาคการเงินของยุโรป ยังเผชิญสถานการณ์ไม่ต่างจากสหรัฐฯ กล่าวคือ อยู่ภายใต้ความกดดันจากมาตรการปฏิรูปและการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแล ที่มีแนวโน้มว่าจะบีบให้ธนาคารต่างๆ ต้องเพิ่มทุนและลดธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง
เมื่อวันจันทร์ (15) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตือนว่าแบงก์ในยูโรโซนอาจต้องตั้งสำรองเผื่อการเสื่อมค่าของสินทรัพย์เพิ่มเติมอีก 283,000 ล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปีหน้า โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหนี้เสีย ทั้งนี้ อีซีบีบอกว่า เสถียรภาพทางการเงินยังต้องถือว่ามีสูง โดยเฉพาะในเมื่อวงจรสินเชื่อตอนนี้ก็ยังไม่ได้ไปถึงจุดต่ำสุด
วันต่อมา โจเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ตอกย้ำว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคาร ซึ่งขณะนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ลงมือจัดการแล้ว
สองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ สถาบันบรูเกลในบรัสเซลส์เตือนว่า ตราบที่แบงก์มากมายยังล้มละลายหรือมีแนวโน้มล้มละลาย ยุโรปก็จะต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจต่อไปไม่จบสิ้น
ที่สหรัฐฯ วันพุธ (16) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายยักษ์ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ลดอันดับความน่าเชื่อถือและทบทวนแนวโน้มแบงก์อเมริกัน 22 แห่ง โดยระบุสาเหตุว่ามาจากความผันผวนในตลาดและความกดดันด้านกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้น
วันเดียวกัน แม้ธนาคารชั้นนำของสหรัฐฯ หลายแห่งเริ่มชำระคืนเงินกู้ฉุกเฉินให้กระทรวงการคลัง แต่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ได้ประกาศแผนการปฏิรูปกฎระเบียบกำกับดูแลภาคการเงินครั้งใหญ่ที่สุดนับจากเศรษฐกิจถดถอยครั้งเมื่อทศวรรษ 1930
ทว่า เอ็ดเวิร์ด ยิงลิง ประธานสมาคมนายธนาคารแห่งอเมริกา วิจารณ์ว่าแม้การปฏิรูปดังกล่าวมีความจำเป็น ทว่ามาตรการดังกล่าวก็กว้างขวางเกินไปและสร้างความขัดแย้งมากเกินไป จนอาจเป็นปัญหาในการประกาศใช้เป็นกฎหมาย นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในตลาดการเงินมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ลอนดอน ทั้ง เมอร์วิน คิง ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ และขุนคลัง อลิสแตร์ ดาร์ลิง ต่างสนับสนุนมาตรการปฏิรูปการกำกับดูแลภาคารการครั้งใหญ่
วันพฤหัสบดี (17) การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (อียู) เห็นด้วยในหลักการเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานด้านการเงินขึ้นใหม่ 3 แห่งที่จะกำกับดูแลทั่วทั้งยุโรป แม้อังกฤษยังสงวนท่าทีเรื่องการมอบให้หน่วยงานแห่งยุโรปควบคุมดูแลศูนย์กลางการเงินขนาดใหญ่ในลอนดอนก็ตาม
วันเดียวกันนั้น ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เตือนว่า บรรดาธนาคารใหญ่ที่สุดของสวิส ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินอย่างรุนแรง
ความท้าทายจากสองด้านเช่นนี้ นั่นคือ ด้านหนึ่ง จุดอ่อนของบรรดาธนาคารที่ยังหลบซ่อนอยู่และสินทรัพย์เสื่อมค่าที่ยังไม่ปรากฏออกมา และอีกด้านหนึ่ง ความกดดันจากแนวโน้มที่จะถูกกำกับตรวจสอบอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น ได้ถูกเสนอเอาไว้อย่างตรงไปตรงมาในรายงานประเมินสภาพธนาคารในยุโรปของเอสแอนด์พี ที่ระบุว่า เส้นทางจากปัญหาในปัจจุบันไปสู่อนาคตที่มั่นคงขึ้นนั้น ยังเต็มไปด้วยหลุมบ่อ และมีแนวโน้มว่ากลุ่มการเงินยุโรปจะไม่สามารถอยู่รอดได้ทั้งหมด
รายงานชิ้นนี้ซึ่งใช้ชื่อว่า “ธนาคารยุโรปเผชิญการขาดทุนหนักขึ้นจากสินเชื่อ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจทรุดต่ำเข้าสู่ช่วงที่สอง” ยังระบุว่า ธนาคารยุโรปส่วนใหญ่ยังเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดัน
จากการพินิจพิจารณาอย่างเจาะจงต่อธนาคารแห่งต่างๆ ยาวเหยียด รายงานนี้สรุปว่า “เรามองเห็นทิศทางอนาคตในทางลบสำหรับอันดับความน่าเชื่อของกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มกิจการธนาคารใหญ่ที่สุดในยุโรป สืบเนื่องจากเราประเมินว่าพวกเขามีโอกาสลู่ทางด้านรายได้ที่ย่ำแย่ และปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมก็อ่อนแอ”
เอสแอนด์พียังบอกว่า “ปัญหาในตลาดเฟื่องฟูใหม่ในยุโรป ก็กระทบกระเทือนกลุ่มการธนาคารยุโรปตะวันตกที่สร้างเครือข่ายในประเทศเหล่านั้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”
รายงานยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่ธนาคารกลางของหลายประเทศลดดอกเบี้ยระยะสั้นรุนแรง แต่ดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดกลับขยับขึ้น ทำให้แบงก์พาณิชย์มีช่องทางทำกำไรจากการปล่อยกู้ แต่ก็เตือนว่าสถานการณ์ที่ผ่อนคลายลงชั่วคราวนี้ อาจเพิ่มแนวโน้มให้มีการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น
และโดยรวมแล้ว เงื่อนไขที่บีบรัดในตลาดและกฎระเบียบที่เคร่งครัดขึ้น อาจกดดันให้แบงก์ต้องเพิ่มทุนหรือลดสินทรัพย์เสี่ยง หรือทำทั้งสองอย่างในช่วงสองปีหน้า