เอเอฟพี - คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังจะเปิดเผยแผนการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบกำกับดูแลภาคการเงินของสหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดการเงินทั้งภายในและระหว่างประเทศ ยังคงอยู่ในสภาพอ่อนแอต่อเนื่อง
รัฐมนตรีคลังทิโมธี ไกธ์เนอร์ และประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ได้ร่วมกันเปิดเผยกรอบโครงของแผนการนี้ ในรูปของบทความที่ลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ฉบับวานนี้(15)
ขุนพลฝ่ายเศรษฐกิจของโอบามาทั้งสอง ไม่ได้ระบุกำหนดเวลาว่าจะมีการเปิดตัวแจกแจงรายละเอียดของแผนอย่างเป็นทางการเมื่อไร แต่บรรดาสื่อสหรัฐฯก็รายงานว่ารัฐบาลจะประกาศแผนนี้ในวันพุธ(17)เป็นอย่างเร็ว
"การทำให้ชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นในระบบการเงินว่าจะมีการกำกับดูแลที่ดีขึ้นนั้น สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก" ทั้งสองคนเขียนไว้ในบทความชิ้นนี้ "และรัฐบาลก็จะเป็นผู้นำในการทำให้ระบบการกำกับดูแลได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในทั่วโลก"
แผนการซึ่งมีประเด็นสำคัญรวม 5 ประการนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิด "ระบบการกำกับดูแลที่มีเสถียรภาพมากกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ"ในการติดตามเฝ้าระวังระบบ "เพื่อมิให้เป็นการแทรกแซงตลาดมากเกินไป" ไกธ์เนอร์และซัมเมอร์สระบุ
ทั้งนี้ สำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่และมีความเกี่ยวพันไปทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐฯจะออกระเบียบข้อกำหนดในเรื่องเงินกองทุนและสภาพคล่องให้เข้มงวดมากขึ้น
ส่วนพวกสถาบันการเงินที่หากเกิดล้มละลายและจะส่งผลสะเทือนต่อระบบอย่างรุนแรงนั้น ก็จะต้องถูกกำกับดูแลโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) นอกจากนี้รัฐบาลยังจะจัดตั้ง "สภาแห่งหน่วยงานกำกับดูแล" ขึ้น ทำหน้าที่ประสานงานและก่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบกว้างขวาง ระหว่างบรรดาหน่วยงานซึ่งความรับผิดชอบตรวจสอบระบบการเงิน
ไกธ์เนอร์และซัมเมอร์สยังบอกว่า การที่กิจกรรมด้านการเงินนอกระบบธนาคารตามปกติ เช่น การออกหลักทรัพย์ที่อิงอยู่กับสินทรัพย์ชนิดต่าง ๆ นั้น มีอัตราการเติบโตอย่างมหาศาลยิ่ง คือตัวการสำคัญที่นำไปสู่ "การสึกกร่อนของมาตรฐานการปล่อยกู้" และส่งผลให้ตลาดประสบกับวิกฤตครั้งรุนแรง ซึ่งทำให้ภาวะฟองสบู่แตกในตลาดที่อยู่อาศัยเลวร้ายมากกว่าเดิม
พวกเขาชี้ว่า นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมในแผนการใหม่ของรัฐบาล จึงจะมีระเบียบข้อกำหนดใหม่ๆ เกี่ยวกับการยื่นรายงานต่อทางการซึ่งผู้ออกหลักทรัพย์ที่มูลค่าอิงอยู่กับสินทรัพย์ต่าง ๆต้องกระทำ รวมทั้งทำให้ทั้งนักลงทุนและหน่วยงานกำกับดูแล ลดการพึ่งพาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้น้อยลง
แผนการนี้ยังจะกำหนดให้ผู้ออกตราสารที่เป็นการแปลงสภาพหนี้เป็นทุน รวมทั้งนายหน้าและผู้ให้การสนับสนุนการออกตราสารเหล่านี้ จะต้องคงการมีส่วนได้ส่วนเสียทางการเงินกับผลการดำเนินงานของตราสารนั้นๆ
เครื่องมือทางการเงินที่เรียกกันกว้างๆ ว่า ตราสารอนุพันธ์ จะต้องขึ้นกับหน่วยงานกำกับดูแล ขณะที่ดีลเลอร์ซื้อขายตราสารอนุพันธ์ก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยพวกหน่วยงานกำกับดูแล "จะได้รับอำนาจเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ มาบังคับเล่นงานผู้ที่ปั่นตลาดหรือละเมิดกฎเกณฑ์" ขุนพลทั้งสองชี้
พวกเขายังชี้ด้วยว่า "การคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นไปอย่างอ่อนแอมาก ในกรณีของสินเชื่อซับไพรม์ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินขึ้น" ดังนั้น รัฐบาลจะเสนอกรอบการคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งหมดที่ปรับปรุงใหม่ทั้งหมดให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แผนการคราวนี้ ยังจะบรรจุมาตรการต่างๆ ซึ่งมุ่งจำกัดวงและบริหารวิกฤตทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
รัฐบาลกลางจะมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางกว่าก่อนมาก รวมทั้งมีกลไกที่จะเข้าแทรกแซงในยามที่กำลังจะเกิดปัญหาขึ้น "ในบริษัทโฮลดิ้งด้านการเงินทั้งหลาย ซึ่งหากปล่อยให้ล้มจะส่งผลสะเทือนรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน" ไกธ์เนอร์และซัมเมอร์สชี้
"อำนาจหน้าที่เหล่านี้จะมีได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในห้วงแห่งวิกฤตเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่ต้องถูกบีบให้เลือกระหว่างการเข้ามาประคองสถาบันการเงินเอาไว้ หรือปล่อยให้ทั้งระบบล้มลงอีกต่อไปแล้ว"
สุดท้าย คณะรัฐบาลสหรัฐฯวางแผนที่จะทำงานร่วมกับบรรดาหุ้นส่วนระหว่างประเทศของตน เพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลด้านการเงินระหว่างประเทศ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในยุคแห่งโลกาภิวัตน์นี้