เอเอฟพี - รัสเซียเชิญทูตเกาหลีเหนือเข้าพบเมื่อวันพุธ (27) เรียกร้องให้คืนสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายยุติโครงการนิวเคลียร์ตามหลังการทดลองอาวุธลูกใหม่ ขณะที่สหรัฐฯลั่นปกป้องเกาหลีใต้จากคำขู่โจมตีของเปียงยางหลังโซลตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการทำข้อตกลงห้ามการแพร่กระจายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
ฝ่ายรัสเซีย “ขอเรียกร้องสำหรับการคืนสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายปลดอาวุธนิวเคลียร์ของคาบสมุทรเกาหลี โดยมีเป้าหมายค้นหาแนวทางคลี่คลายปัญหาความมั่นคงของภูมิภาคผ่านช่องทางทางการทูต” กระทรวงการต่างประเทศเครมลินกล่าวในแถลงการณ์
ความคืบหน้าของโต๊ะเจรจา -- ซึ่งประกอบด้วย จีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐฯ -- ต้องหยุดชะงักลงเมื่อเดือนที่แล้วหลังการถอนตัวของเกาหลีเหนือตามหลังคำตำหนิของนานาชาติต่อการยิงจรวดของพวกเขา
ในการพบกับ คิมยองแจ ทูตเกาหลีเหนือเมื่อวันพุธ (27) ฝ่ายรัสเซียแสดงท่าทีชัดเจนอีกครั้งว่า พวกเขามีความกังวลอย่างยิ่งต่อการทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดินของเกาหลีเหนือเมื่อวันจันทร์(25) รวมถึงการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้และประกาศเดินหน้าโปรแกรมนิวเคลียร์ใหม่อีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย แสดงท่าทีแข็งกร้าวโดยเรียกร้องให้สหประชาชาติลงมติประณามการทดสอบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า ปัญหาการเผชิญกับชาคอมมิวนิสต์ควรคลี่คลายผ่านการเจรจาหลายฝ่าย โดยบอกว่าเกาหลีเหนือไม่ควรถูกทำโทษเพียงแค่อยากลงโทษเท่านั้น
ด้านสหรัฐฯเมื่อวันพุธ (27) เมินคำขู่ล่าสุดของเกาหลีเหนือ รวมไปถึงคำพูดที่บอกว่าจะละทิ้งข้อตกลงยุติสงครามเกาหลีและอาจโจมตีเกาหลีใต้หากโซลตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการทำข้อตกลงห้ามการแพร่กระจายอาวุธ หรือพีเอสไอ
“ผมจะไม่ตอบโต้ถ้อยแถลงใดๆ ออกมาจากเปียงยาง” เอียน เคลลี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯบอกกับผู้สื่อข่าว เมื่อถูกถามถึงคำขู่ต่างๆ นานาจากเกาหลีเหนือ
เขาไม่ได้ตอบตรงๆ เมื่อถูกถามว่าที่ยังเงียบอยู่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามของสหรัฐฯที่หวังลดความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือที่ได้ก้าวสู่ระดับใหม่นับตั้งแต่เปียงยางอ้างว่าได้ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เมื่อวันจันทร์ (25)
ความโกรกริ้วของเกาหลีเหนือ ถูกกระตุ้นขึ้นจากการตัดสินในเข้าร่วมโครงการยับยั้งการครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (พีเอสไอ) ที่นำโดยสหรัฐฯและตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 11 กันนายน
ทั้งนี้ ในพีเอสไอ ซึ่งมีสมาชิก 95 ชาติ เปิดช่องให้สิทธิ์ชาติสมาชิกเรียกตรวจเรือใดๆ เพื่อความมั่นใจว่าเรือเหล่านั้นไม่ได้บรรทุกอาวุธทำลายล้างสูงหรือบรรทุกส่วนประกอบที่ใช้สร้างอาวุธอันตราย
ต่อมา นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมายืนยันจะปกป้องพันธมิตรญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ท่ามกลางคำขู่ของเปียงยาง
“ดิฉันขอยืนยันถึงพันธสัญญาที่สหรัฐฯมีและสหรัฐฯ ความตั้งใจด้วยเกียรติสำหรับการปกป้องเกาหลีใต้และญี่ปุ่น” นางฮิลลารี กล่าว “นั่นคือ ส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาที่เราต้องจริงจัง”