เอเอฟพี - ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ออกคำแถลงประณามการทดสอบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางอองซานซูจี ผู้นำประชาธิปไตยในพม่า
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซม อันประกอบไปด้วยกลุ่มประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ชาติ กลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มองโกเลีย ปากีสถานและอินเดีย เสร็จสิ้นการประชุมในวันนี้ (26) โดยได้ออกคำแถลงประณามการทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดินของเกาหลีเหนือ เมื่อ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา
อาเซมระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ละเมิดข้อตกลง 6 ฝ่ายการปลดอาวุธนิวเคลียร์ และมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งยังเรียกร้องให้เกาหลีเหนือไม่ให้ทดสอบนิวเคลียร์ใดๆ อีก รวมทั้งขอให้เกาหลีเหนือกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายด้วย
นอกจากนี้ อาเซมยังได้แสดงความกังวลกับสถานการณ์ล่าสุดในพม่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจับตัวนางอองซานซูจี และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางอองซานซูจี และยกเลิกข้อจำกัดแก่พรรคการเมืองภายในประเทศด้วย
นางออองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กำลังถูกรัฐบาลทหารพม่าพิจารณคดีฐานละเมิดกฎหมายความคุมตัวเธอ หลังปล่อยให้ชายชาวอเมริกันว่ายน้ำบุกเข้าบริเวณบ้านพัก ซึ่งทำให้เธออาจจะถูกจำคุกเป็นเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตาม เธอให้การวันนี้ว่า ไม่ได้ละเมิดกฎการควบคุมตัวเธอ แต่เพียงให้ที่พักพิงแก่ชายคนดังกล่าวเท่านั้น โดยทนายความของเธอระบุว่า การควบคุมตัวเธอจะสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้ แต่ผู้บัญชาการตำรวจพม่ากล่าวว่า รัฐบาลทหารพม่ามีสิทธิควบคุมตัวเธอต่อไปอีก 6 เดือน
ทั้งนี้ พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี)ของอองซานซูจีชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 อย่างถล่มทะลาย แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมปล่อยให้พรรคของเธอก้าวขึ้นสู่อำนาจ และเธอยังถูกควบคุมตัวภายในบ้านพักเป็นเวลา 13 จากตลอด 19 ปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งในเรืองนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซมเรียกร้องให้พม่าเตรียมจัดการเลือกตั้งตามกำหนดไว้ในปีหน้าด้วยความ "มีเสรีภาพและยุติธรรม"
รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอังกฤษ บิล แรมเมลล์ เผยว่า เนวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าเข้าประชุมร่วมกับอาเซม แต่ยืนกรานไม่เปลี่ยนจุดยืน เขาระบุว่า ระบอบพม่าได้คำนวณสถานการณ์ผิดพลาดและมีความเสื่อมถอยจากปฏิกิริยาตอบโต้จากนานาชาติ
ด้านจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรของทั้งเกาหลีเหนือและพม่าได้แสดงบทบาทที่ "สร้างสรรค์มาก" ระหว่างการประชุมอาเซมครั้งนี้ อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฟินแลนด์กล่าว อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์บิลด์ของเยอรมนีระบุว่า มีน้ำเสียงใหม่จากจีนในประเด็นพม่า แต่ที่กรุงปักกิ่ง กระทรวงการต่างประเทศแดนมังกรปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงใดๆต่อพม่า โดยระบุว่าจีนจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของพม่าเด็ดขาด