เอเอฟพี - ตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศล่าสุดเมื่อวันศุกร์(15) บ่งชี้ว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นทุกที ของภาวะเงินฝืด ส่วนการลงทุนต่างๆ ทางธุรกิจก็พากันซบเซา ในขณะที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกแห่งนี้ ยังอยู่ในภาวะโซซัดโซเซจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ แถลงว่า ราคาสินค้าขายส่งในเดือนเมษายนดิ่งลง 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อันเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 22 ปี ทำให้เกิดเสียงวิตกมากขึ้นในเรื่องภาวะเงินฝืด
อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากราคาผู้บริโภคเมื่อเดือนมีนาคมก็อยู่ในระดับติดลบ อันเป็นการกลับไปติดลบครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ทำให้ความหวั่นผวาที่มีกันอยู่ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและไร้การเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนในช่วงทศวรรษ 1990 อีกครั้งหนึ่งนั้น ดูยิ่งใกล้เคียงกับความจริงขึ้นมา เพราะในขณะที่ราคาสินค้าร่วงลง แต่บรรดาผู้บริโภคก็กลับลดการใช้จ่ายกันขนานใหญ่
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ แรงกดดันเรื่องระดับราคาลดฮวบลง ยังมีปัจจัยมาจากการดิ่งลงของต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ให้ผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมากด้วยซ้ำ
"บริษัทของญี่ปุ่นกำลังดิ้นรนเพื่อทำกำไร อันเนื่องมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูง และราคาสินค้าที่ต่ำลง" ฮิโรชิ วาทานาเบ นักเศรษฐศาสตร์จากไดวะ อินสติติวท์ ออฟ รีเสิร์ช กล่าว
"ตัวเลขแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังจะตกต่ำถึงที่สุดแล้ว และการฟื้นตัวจะตามมา และนี่เป็นสัญญาณที่ดี" เขาให้ความเห็น
ในขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอีกชิ้นหนึ่งเมื่อวานนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าคำสั่งซื้อเครื่องจักรกลที่สำคัญของญี่ปุ่นประจำเดือนมีนาคมได้หดตัวลง 1.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราหดตัวที่น้อยกว่าที่คาดไว้มาก และเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าการส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจจะเริ่มฟื้นจากภาวะตกต่ำที่สุดแล้ว
รัฐมนตรีการคลังและเศรษฐกิจ คาโอรุ โยซาโนะ ชี้ว่ามีสัญญาณหลายตัวที่ชี้ว่าภาวะชะลอตัวเริ่มบรรเทาลง แต่ก็ก็ยังเตือนให้ระมัดระวังสภาพการณ์อันเลวร้ายกว่านี้เอาไว้ด้วย
"ผมรู้สึกยินดีที่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจที่ตกต่ำเริ่มดีขึ้น แต่เรายังคงต้องเฝ้าระวังปัจจัยทางเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป" เขากล่าว
ปัญหาของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการส่งออกดิ่งลงอย่างมหาศาล ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องลดกำลังการผลิตรวมทั้งเลื่อนการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจออกไป และหันมารับมือกับการขาดทุนมหาศาลแทน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่คำสั่งซื้อสินค้าจักรกลที่ลดลงแต่ไม่มากเท่าที่คาดไว้นั้นเป็นข่าวดี แต่บริษัทต่าง ๆก็ยังต้องระมัดระวังการใช้จ่ายในโรงงานและอุปกรณ์ใหม่ๆ ในขณะที่บัญชียังคงติดตัวแดง
รัฐบาลออกมาชี้เมื่อเดือนที่แล้วว่าผลผลิตจากโรงงานเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหกเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์ก็ยังคงเตือนว่าการที่บริษัทต่าง ๆลดการลงทุนลง จะฉุดลากให้การฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมเชื่องช้าลง
อนึ่ง บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นยังคงเรียงหน้ากันประกาศผลขาดทุนมหาศาล เมื่อวันศุกร์ (15) พานาโซนิก คอร์ปแถลงว่าเมื่อปีการเงินที่แล้ว(เม.ย.2008-มี.ค.2009) บริษัทขาดทุนไปทั้งหมด 378,960 ล้านเยน (3,950 ล้านดอลลาร์) มิซูโฮ ไฟแนนซ์ ธนาคารใหญ่เป็นอันดับสองของญี่ปุ่นก็ประกาศผลขาดทุนถึง 588,800 ล้านเยน
เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2008 และไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วเศรษฐกิจหดตัวลงไปในระดับเท่ากับปีละ 12.1% นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าไตรมาสแรกปีนี้สถานการณ์จะย่ำแย่กว่านั้นมาก