เอเอฟพี – องค์การอนามัยโลก เชื่อภูมิภาคเอเชียเตรียมตัวรับมือกับการระบาดของโรคหวัดหมูได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เนื่องจากมีประสบการณ์ในการจัดการกับโรคระบาดร้ายแรง อย่างซาร์ส มาแล้ว
การแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจฉับพลันรุนแรง หรือซาร์ส ในปี 2003 ทำให้ประเทศในแถบเอเชีย ตรวจผู้โดยสาร ที่เดินทางทางอากาศอย่างเข้มงวด ปิดโรงเรียน สะสมยาต้านหวัด และกักันผู้ต้องสงสัยติดเชื้อหลายพันคน
ปีเตอร์ คอร์ดิงลีย์ โฆษกองค์การอนามัยโลก สำนักงานแปซิฟิกตะวันตกในกรุงมะนิลากล่าวว่า โรคระบาดดังกล่าวซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 800 คน ทำให้เอเชียได้บทเรียนสำหรับการเฝ้าระวัง และการควบคุมการติดเชื้ออย่างถูกวิธี ดังนั้น “เอเชียจึงเตรียมตัวได้ดีกว่า และอยู่ในสถานะที่ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ”
คอร์ดิงลีย์เผยว่า เชื้อไวรัสเอช 1 เอ็น 1 ซึ่งคาดว่าจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของ 103 คนในเม็กซิโก เป็นเชื้อที่ค่อนข้างอ่อน ตามการศึกษาเบื้องต้น แต่เขาก็เตือนว่าอย่านิ่งนอนใจไป เนื่องจากไวรัสดังกล่าวอาจกลายพันธ์เป็นสายพันธ์ที่ร้ายแรงกว่านี้ได้
“มันสามารถพัฒนาคุณสมบัติ และสามารถกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้” เขากล่าว “เรายังไม่รู้วิธีที่มันจะตาย และวิธีที่มันจะกลายพันธุ์ด้วย นี่เป็นไวรัสชนิดใหม่”
เขายังย้ำว่า ทุกประเทศในโลกมีความเสี่ยง ไม่เพียงแต่เฉพาะแต่ในเอเชียที่มักมีผู้คนจำนวนมากไปทำงานอยู่ในต่างแดน รวมถึงในสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันราว 20 ราย ใน 5 มลรัฐ
ฮูได้ประกาศในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไวรัสชนิดนี้เป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประชาชนระดับโลก และเรียกร้องให้ทุกประเทศเฝ้าระวังจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ป่วยโรคหวัด และปอดบวมเฉียบพลัน
ยิ่งไปกว่านั้น คอร์ดิงลีย์ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การกินเนื้อหมูจะทำให้ติดเชื้อหรือไม่ แต่ไวรัสดังกล่าวสามารถติดต่อผ่านมนุษย์ และมนุษย์ได้เช่นกัน