เอเอฟพี – กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดมินิก สเตราส์-คาห์นกล่าวย้ำเมื่อวันพฤหัสบดี (23) วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกนั้น “ห่างไกลมากจากภาวะสิ้นสุด” และบอกด้วยว่าการฟื้นตัวจะเริ่มขึ้นที่สหรัฐฯก่อนที่อื่น
“แม้จะเริ่มมีความหวังขึ้นบ้างแล้ว” ในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันพุธ(22) “แต่เราก็เชื่อว่าวิกฤตนั้นไม่ยุติลงง่าย ๆ” สเตราส์-คาห์นกล่าวในการแถลงข่าวก่อนหน้าการประชุมไอเอ็มเอฟประจำฤดูใบไม้ผลิในกรุงวอชิงตัน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้
“เรายังคงเชื่อว่าการฟื้นตัวจะสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2010” เขาบอก
ตามรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวถึง 1.3% ในปีนี้ และจะขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2010
“การเริ่มต้นของการฟื้นตัวจะต้องมาจากสหรัฐฯ และมันจะเกิดขึ้นให้สหรัฐฯก่อนที่อื่น” เขาบอก
สเตราส์-คาห์นยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า วิกฤตน่าจะดำเนินต่ออีกหลายเดือน โดยมีหลักฐานจากการขาดทุนราว 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ของธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ๆในสหรัฐฯ ซึ่งไอเอ็มเอฟได้ทำการศึกษาเอาไว้และรายงานก่อนหน้านี้
เขายังได้กล่าวอีกว่าปมที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเสียหายในสินทรัพย์ที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ เพราะว่าตอนนี้จำนวนหนี้เสียกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้สางปัญหาภาคการเงินยากขึ้น ผลก็คือไม่สามารถกระตุ้นอัตราเติบโตได้ตามต้องการ
“เรากำลังอยู่ห่างจากจุดที่เราต้องการจะไปถึงมากนัก” เขากล่าว “แม้ว่ารัฐบาลต่าง ๆจะได้ลงมือออกมามาตรการอัดฉีดมูลค่ามหาศาลเข้าไปแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯและในสหภาพยุโรป
สเตราส์-คาห์นยังได้ชี้ด้วยว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็น “ส่วนสำคัญของปัญหาไม่น้อยกว่าที่อื่น ๆ” แม้ว่าเขาจะยอมรับว่าการสางสินทรัพย์เน่าเสียออกมาในประเทศต่าง ๆนั้นมีความยากลำบากทั้งในเชิงการเมืองและทางเทคนิคอยู่ แต่กระนั้นเขาก็เน้นว่าจะไม่มีใครเห็นการฟื้นตัว หากว่าไม่สามารถจะล้างงบดุลของภาคการเงินให้ปลอดจากสินทรัพย์ไม่เคลื่อนไหวได้”
“การฟื้นตัวในปี 2010 นั้นอิงอยู่กับความพยายามแก้ไขปัญหาภาคกาเรงิน ดังนั้นผมจึงใคร่จะขอร้องประเทศต่าง ๆก่อนที่การประชุม(จี7 และจี 20)จะเริ่มขึ้น(ในวันศุกร์)ว่ากรุณาเพิ่มความพยายามมากขึ้นเพื่อให้มีแนวทางอันถูกต้องที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ”
ไอเอ็มเอฟคาดว่าธนาคารของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นจะรับรู้ผลขาดทุนราวหนึ่งในสามของยอดขาดทุนที่แท้จริงจากสินทรัพย์ที่ไร้สภาพคล่องในช่วงตั้งแต่กลางปี 2007 ไปจนถึง 2010 สเตราส์-คาห์นได้แสดงความชื่นชมต่อกลุ่มประเทศจี 20 ที่ได้เริ่มใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิของประเทศโดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2% ของจีดีพีของโลกตามคำแนะนำของไอเอ็มเอฟ