xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนิการากัว แฉ ปธน.ตั้ง “ทูตพิเศษ” มั่ว ก่อน “นช.แม้ว” ก็มีบุคคลอื้อฉาวเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา ซาเบดรา จับมือกับทักษิณ
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หนังสือพิมพ์ “เอล นวยโบ เดียริโอ” ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของหนังสือพิมพ์รายวันภาษาสเปน ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในนิการากัว รายงานผ่านเว็บไซต์ของตน โดยระบุว่า การที่ประธานาธิบดี ดาเนียล ออร์เตกา ซาเบดรา ได้ประกาศแต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหลบหนีโทษจำคุกจากประเทศไทย ให้ดำรงตำแหน่งเป็น “เอกอัครราชทูตพิเศษ” แล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งภายในและภายนอกนิการากัวนั้น อันที่จริงแล้ว ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดี ออร์เตกา ตัดสินใจแต่งตั้ง “บุคคลซึ่งมีปัญหากับกระบวนการยุติธรรม” ในต่างประเทศให้มาเป็นเอกอัครราชทูตพิเศษของประเทศนี้

เอล นวยโบ เดียริโอ บอกว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2008 ออร์เตกา ก็ได้แต่งตั้ง อัลบาโร โรเบโล กอนซาเลซ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงธนาคารแห่งหนึ่งในสเปน จนได้รับความเสียหายอย่างมหาศาลให้เป็นเอกอัครราชทูตพิเศษเช่นกัน

นอกจากนั้น ออร์เตกา ยังแต่งตั้ง โลเรนโซ ซานซ์ อดีตประธานสโมสรฟุตบอล “ราชันชุดขาว” เรอัล มาดริด ซึ่งเป็นทีมยักษ์ใหญ่แห่งศึกลา ลีกา สเปน เป็นเอกอัครราชทูตพิเศษให้กับนิการากัวเช่นกัน แม้ว่า ซานซ์ จะถูกทางการสเปน กล่าวหาว่า มีพฤติกรรมฉ้อฉลทางธุรกิจก็ตาม

ทางด้าน โฮเซ ปายาอิส ประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรมและกิจการกฎหมายของรัฐสภานิการากัว ก็ออกมาวิจารณ์การแต่งตั้งทูตพิเศษของประธานาธิบดี ออร์เตกา ในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่า ออร์เตกา มักทำการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตพิเศษ โดยไม่คำนึงถึงธรรมเนียมประเพณีทางการทูต และไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างนิการากัวกับมิตรประเทศ

ปายาอิส ยังระบุว่า กรณีของการแต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร และ อัลบาโร โรเบโล กอนซาเลซ เป็นเอกอัครราชทูตพิเศษของนิการากัวนั้น เขาเห็นว่า บุคคลทั้ง 2 ไม่น่าจะมีสถานะทางการทูตที่สมบูรณ์ตามขอบข่ายของ “อนุสัญญาเวียนนา” ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ปี 1961ซึ่งถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่นานาชาติให้การยอมรับแต่อย่างใด

ประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรมและกิจการกฎหมายของรัฐสภานิการากัว ยังแสดงความกังวลถึงการที่ออร์เตกามักให้สิทธิ์บุคคลต่างชาติ ที่มีเรื่องอื้อฉาว และไม่ใช่พลเมืองของนิการากัว ในการถือครองหนังสือเดินทางของนิการากัวด้วย โดย ปายาอิส ระบุว่า การกระทำของออร์เตกาไม่เพียงขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังขัดต่อกฎหมายภายในของนิการากัว เพราะตามกฎหมายนิการากัวแล้ว การที่ผู้นำประเทศจะแต่งตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้แทนทางการทูตได้นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาแห่งชาติเสียก่อน

ส่วน บิคตอร์ อูโก ติโนโก อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของนิการากัว ก็ออกมาวิจารณ์ว่า ประธานาธิบดี ออร์เตกา ทำให้ภาพลักษณ์ของนิการากัว ในสายตาของประชาคมโลกต้องเสียหายและขาดความน่าเชื่อถือ จากการแต่งตั้งบุคคลที่มีภูมิหลังไม่สุจริต มาทำหน้าที่ผู้แทนทางการทูต ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติของประเทศ และทำให้เกิดข้อครหาว่า “หนังสือเดินทางนิการากัวพร้อมที่จะถูกขายเพื่อแลกกับเงินของคนรวยที่ชั่วร้าย”

อย่างไรก็ตาม มานูเอล โกโรเนล เคาต์ซ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของนิการากัว ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแก้ต่างให้แก่การตัดสินใจของประธานาธิบดี ที่ได้ประกาศแต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร เป็น “เอกอัครราชทูตพิเศษ” นั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่ “ถูกต้องแล้ว”

เคาต์ซ ระบุว่า ทักษิณ ถือเป็นบุคคลที่มีคุณค่า เพราะนอกจากจะเคยมีประสบการณ์ในด้านการเมืองแล้ว ก็ยังมีประสบการณ์ในการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย ดังนั้น จึงการมอบหมาย “ภารกิจพิเศษ” ในการดึงดูดการลงทุน ให้กับทักษิณจึงถือเป็นเรื่องที่ดี แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประธานาธิบดี ออร์เตกา ตัดสินใจในเรื่องนี้แบบไม่รอบคอบ และอาจมี “เบื้องหลัง” บางอย่างกับทักษิณ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ถูกมองว่า มีประวัติที่ไม่ขาวสะอาดก็ตาม

รัฐมนตรีช่วยผู้นี้ ซึ่งเป็นสหายสนิทของออร์เตกามาตั้งแต่สมัยเป็นสมาชิกแนวร่วมฝ่ายซ้ายแห่งขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติซันดินิสตา (Frente Sandinista de Liberaci?n Nacional - FSLN) ยืนยันว่า ออร์เตกา ได้ตัดสินใจอย่างดีที่สุดแล้วในเรื่องนี้ พร้อมกับตำหนิการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศ และสื่อมวลชนท้องถิ่นในนิการากัว ที่พยายามนำประเด็นที่ทักษิณถูกทางการไทยออกหมายจับในข้อหาคอร์รัปชัน และกระทำการยุยงให้เกิดความแตกแยกและความรุนแรงในประเทศไทย มาขยายความให้เป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือทั้งของออร์เตกา และตัวทักษิณซึ่งมีสถานะเป็นทูตพิเศษของนิการากัว

อนึ่ง เว็บไซต์ของนิการากัวโพสต์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในนิการากัว เมื่อวันพฤหัสบดี (23) ได้รายงานข่าวผลการสำรวจของสำนัก เอ็มแอนด์อาร์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ลาเปรนซา ระบุว่า มีประชาชนที่ตอบคำถามสำรวจความเห็นจำนวนเพียง 17.7% ที่คิดว่าประธานาธิบดี ออร์เตกา ทำงานได้ดีหรือดีมาก และมี 67.8% เชื่อว่า เขาไม่ได้ตัดสินใจอย่างถูกต้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนนิการากัว
ภาพรัฐบาลนิการากัวมอบหนังสือเดินทางทางการทูตให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น