เอเอฟพี - ผลการศึกษาล่าสุด ระบุว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรเร่งหาทางรับมือ หลังพบว่า บรรดากลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคนี้ นิยมใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่แนวคิดแบบหัวรุนแรงสุดขั้ว และใช้เป็นช่องทางสำหรับฝึกอาวุธให้กับสมาชิก รวมทั้งใช้ในการหาสมาชิกใหม่เข้ามาเป็นแนวร่วมเพิ่มมากขึ้น
รายงานผลการศึกษาดังกล่าวเป็นของสถาบัน เอส ราชารัตนัม เพื่อการศึกษาด้านการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี นันยาง ของสิงคโปร์ ที่ทำการศึกษาร่วมกับสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย หรือ เอเอสพีไอ โดยผลการศึกษา พบว่า กลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความชำนาญมากขึ้นในการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต โดยมีการเผยแพร่วิธีการทำระเบิด และมีสื่อออนไลน์เป็นของตัวเอง เพื่อใช้ในการชักจูงผู้คนให้หลงเชื่อว่าแนวคิดของกลุ่มตนเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง และกลุ่มของตนจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการต่อสู้
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้มุ่งโจมตีเฉพาะชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนหันมาต่อต้านรัฐบาลของประเทศตนเองด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น ผลการศึกษายังพบว่า เว็บไซต์ของกลุ่มหัวรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว มีจำนวนมากถึง 117 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้นอย่างมากจากเมื่อปี 2007 ที่พบว่ามีเพียง 15 เว็บไซต์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า บรรดาหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย กลับดำเนินการเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานในยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือ ในการหยุดยั้งการแพร่ขยายของการสร้างแนวคิดรุนแรงผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับภัยก่อการร้ายในภูมิภาค
ผลการศึกษาฉบับนี้ ยังระบุว่า นอกเหนือจากการเผยแพร่แนวคิดหัวรุนแรงผ่านทางเว็บไซต์แล้ว บรรดากลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคกำลังมุ่งชักจูงเยาวชนโดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นด้วยเช่นกัน
การเผยแพร่แนวคิดของกลุ่มหัวรุนแรงสุดขั้วในลักษณะดังกล่าว ถูกพบครั้งแรกในภูมิภาคนี้เมื่อช่วงต้นปี ค.ศ.2000 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์ภาษาบาฮาซามาเลย์ และบาฮาซาอินโดนีเซีย โดยในระยะแรก กลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้พยายามลอกเลียนแนวทางในการนำเสนอเนื้อหา ตลอดจนข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ จากเว็บไซต์ของกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ในภายหลังได้มีการปรับปรุงรูปแบบให้มีความซับซ้อนและมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งมีการนำเสนอข่าวสารที่มีความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์เช่นเดียวสำนักข่าวต่างประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ชื่อเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มญามาอะห์ อัล-อิสลามิยะห์ หรือ เจไอ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังเหตุก่อวินาศกรรมบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย เมื่อปี 2002 และ กลุ่มอาบู ไซยาฟ ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ที่เป็นที่รู้จักจากการลักพาตัวชาวต่างชาติจำนวนมาก โดยเมื่อไม่นานมานี้ ก็เพิ่งจับคณะเจ้าหน้าที่กาชาดสากลเป็นตัวประกัน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นยังคงไม่ได้รับอิสรภาพจนถึงขณะนี้