สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างนักวิชาการทั้งไทย และต่างประเทศ ชี้ไม่ว่านายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ แต่ผลที่ตามมาก็คือผู้คัดค้านจะออกมาชุมนุมประท้วง และจะเกิดความวุ่นวายภายในประเทศไม่ต่างไปจากเดิมอยู่ดี
บลูมเบิร์กระบุว่า นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีวัย 44 ปี กำลังดิ้นรนเพื่อรักษาเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลของตัวเองไว้ ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงที่ทำให้ต้องเลื่อนการจัดประชุมสุดยอดระดับภูมิภาค และทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นอัมพาต ก่อนที่จะยุติการสร้างความวุ่นวายวานนี้ (14) ส่วนตัวเขาเองก็ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ที่ยึดสนามบินหลักในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 8 วัน
การชุมนุมใหญถึง 2 ครั้ง โดยพวกหนึ่งใส่เสื้อแดง และอีกฝ่ายใส่เสื้อเหลือง เป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมไทย ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลง โดยความเป็นปรปักษ์ ด้วยประเด็นทิศทางของประชาธิปไตยในประเทศ เป็นภัยคุกคามต่อความรุนแรง ที่จะเกิดมากขึ้นไปอีก ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม
ดันแคน แมคคาร์โก อาจารย์ด้านการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยลีดส์ กล่าวว่า “การจะหาทางออก หรือวิธีการที่สมเหตุสมผล สำหรับประเทศไทย ยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ” โดยระบุว่าทั้งสองฝ่ายหมดความชอบธรรมในการต่อต้านฝ่ายตรงข้ามแล้ว
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรี และนักการเมืองฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ที่ถูกศาลสั่งห้ามลงการเมืองเมื่อ 2 ปีที่แล้วชี้ว่า “ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังไม่เป็นประชาธิไตย วิกฤตก็จะยังคงดำเนินต่อไป ประชาชนในระดับล่างของสังคมไทยเข้าใจประชาธิปไตยมากกว่าแต่ก่อนแล้ว และพวกเขาไม่พอใจที่เสียงของพวกเขาไม่ได้รับความเคารพ”
ด้าน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า “ทักษิณไม่ได้มีปัญหากับรัฐธรรมนูญ เมื่อพรรคการเมืองของเขาตั้งรัฐบาลในปีที่ผ่านมา แต่เขาบอกว่ามันไม่ยุติธรรม เขาลงไปเพียงเพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากโทษจำคุก และกลับมาครองอำนาจในประเทศได้อีกเท่านั้น”
ส่วน เควิน เฮวิสัน อาจารย์คณะเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา เผยว่า ขณะนี้ไม่มีใครเลยที่สามารถเอาชนะความแตกแยก และสามารถเจรจาเพื่อความปรองดอง ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามแห่งการล้างผลาญได้
ยิ่งไปกว่านั้น ไมเคิล มอนเตซาโน นักวิจัยร่วมในสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ในสิงคโปร์ ระบุว่า สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นคือการจัดให้มีกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเปิดกว้าง และไม่มีการแทรกแซง และประชาชนต้องยอมรับผลที่ออกมา