เอเจนซี– หนังสือพิมพ์อเมริกัน 2 ฉบับที่ได้รับการยอมรับนับถือว่ามีคุณภาพสูง คือ วอชิงตันโพสต์และนิวยอร์กไทมส์ ประกาศมาตรการลดต้นทุนครั้งใหม่ เพื่อรับมือกับรายได้จากการโฆษณาที่ยังคงหดหายลง
นิวยอร์กไทมส์แถลงว่าได้ปลดพนักงาน 100 คนรวมทั้งลดเงินเดือนของพนักงานที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพแรงงานลง นอกจากนี้ก็ยังเจรจากับพนักงานที่อยู่ในสหภาพแรงงาน ให้รับเงินเดือนในเงื่อนไขเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องมีการลอยแพคนที่ทำงานในกองบรรณาธิการ
ส่วนวอชิงตันโพสต์ได้เสนอแผนให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจให้แก่พนักงานในกองบรรณาธิการ รวมทั้งฝ่ายผลิต และฝ่ายจัดจำหน่าย สมัครใจลาออกจากงาน แต่ก็ยังเตือนด้วยว่าอาจจะมีการลอยแพพนักงานได้ในระยะต่อไป
“นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากมาก” บันทึกถึงพนักงานที่ลงชื่อโดย อาร์เธอร์ส ซัลสเบอร์เกอร์ จูเนียร์ ประธานของไทมส์ และซีอีโอ เจเน็ต โรบินสันระบุ “สภาพการณ์ต่าง ๆของเรายากลำบากมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา”
ก่อนหน้านี้เจ้าของหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯจำนวนมาก ก็ได้ประกาศลดจำนวนพนักงาน หรือแจ้งเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หรือแถลงปิดหนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งฉบับที่เก่าแก่มีชื่อเสียงนมนาน เพราะตอนนี้บรรดาผู้อ่านต่าง ๆพากันซื้อหนังสือพิมพ์ลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่ไปอ่านข่าวทางอินเตอร์เน็ตหรือสื่ออื่น ๆ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ก็ทำให้รายได้จากโฆษณาซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของหนังสือพิมพ์ มีอันหดหายไปด้วย
ทั้งนี้ ไทมส์จะตัดลดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 9 เดือนสำหรับพนักงานของนิวยอร์กไทมส์ และหนังสือพิมพ์ในเครืออีกฉบับหนึ่ง คือ บอสตัน โกลบ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน รวมทั้งจะให้แต่ละคนหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 10 วัน ส่วนในแผนกงานอื่นๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ในเครือของบริษัทที่เมืองวอร์เชสเตอร์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ จะถูกตัดลดเงินเดือน 2.5% และหยุดงาน 5 วัน
ก่อนหน้านี้ ไทมส์เคยลอยแพพนักงานมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยหน่วยส่งหนังสือพิมพ์และนิตยสารในสังกัดที่มีพนักงาน 500 ตำแหน่งได้ถูกปิดไปโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ก็ยังได้นำเสนอแผนแรงจูงใจเพื่อให้พนักงานในกองบรรณาธิการลาออกโดยสมัครใจเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งปลดพนักงานในกองบรรณาธิการจำนวนหนึ่งออกไป
ทั้งโพสต์และไทมส์ยังไม่เคยปลดพนักงานในระดับเป็นเรือนพัน ซึ่งต่างกับบริษัทหนังสือพิมพ์อื่น ๆ อย่างเช่น บริษัทแกนเน็ต และ บริษัทแมคแคลทชี่ ที่เคยทำในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา อีกทั้งไทมส์และโพสต์ยังคงมีกองบรรณาธิการที่ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ
ทางด้านโพสต์นั้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาได้ประกาศแผนให้แรงจูงใจเช่นเงินชดเชยสำหรับการลาออกโดยสมัครใจในหลายวาระด้วยกัน ในรอบเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วทำให้พนักงานในกองบรรณาธิการลดลงไปอย่างน้อย 10% แต่ก็ยังคงมีนักข่าวเหลืออยู่มากกว่า 100 คน ในช่วงนั้นบริษัทต้องจ่ายเงินไปถึง 87.4 ล้านดอลลาร์เพื่อชดเชยแก่พนักงานบริษัทที่ลาออกไป ซึ่งก็รวมทั้งพนักงานของนิตยสารนิวสวีกด้วย
อย่างไรก็ตาม โพสต์ยังคงจ้างพนักงาน 700 คนในสำนักงานใหญ่ที่วอชิงตันดีซี และอีก 100 คนในแผนกดิจิตอล ซึ่งพนักงานที่ทำงานเว็บไซต์จะไม่ได้รับข้อเสนอให้ออกจากงานแต่อย่างใด
ส่วนไทมส์มีพนักงานเต็มเวลา 9,346 คน และอีก 4,706 คนในนิวยอร์ก ไทมส์ มีเดีย กรุ๊ป ซึ่งรวมทั้งหนังสือพิมพ์และแผนกดิจิตอล ในขณะที่คนที่ทำงานในกองบรรณาธิการมีอยู่ราว 1300 คน
ไทมส์ชี้แจงกับสภาผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์แห่งนิวยอร์กว่า หากยอมรับการลดเงินเดือนก็จะทำให้บริษัทสามารถประหยัดเงินไปได้ 4.5 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่สภาฯบอกว่ากำลังพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวอยู่
สำหรับโพสต์นั้น บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา แคเธอรีน เวย์เมาธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า พนักงานที่เข้าแผนการลาออกโดยสมัครใจระลอกแรก จะออกในเดือนกรกฎาคม แต่เธอไม่ได้ให้รายละเอียดว่าทางหนังสือพิมพ์ต้องการให้พนักงานยอมลาออกไปเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่
ในบันทึกถึงพนักงานของโฟสต์ เธอบอกว่า “ขณะที่รายได้จากออนไลน์กำลังเติบโตเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่เร็วพอที่จะเข้าทดแทนการขาดหายไปของรายได้ที่เรากำลังเห็นจากสิ่งพิมพ์”
ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน โดนัลด์ แกรห์มซึ่งเป็นประธานและซีอีโอของโพสต์ ได้ออกมาแจ้งต่อบรรดาผู้ถือหุ้นว่าโพสต์และนิวสวีกนั้นขาดทุนในปี 2008 และโพสต์น่าจะขาดทุนในปีนี้อีกด้วย