xs
xsm
sm
md
lg

เตือน‘โจรต้มตุ๋น’ระบาดหนักทั่ว‘เอเชีย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตำรวจของสิงคโปร์รักษาความปลอดภัยหน้างานแห่งหนึ่ง
เอเอฟพี - เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น จากนั้นมีบุคคลลึกลับบอกกับคุณว่า คนรักของคุณถูกลักพาตัว ระหว่างนั้นคุณอาจได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือดังแว่วมา และคนร้ายจะบอกรายเอียดให้คุณนำเงินมาจ่ายค่าไถ่ตัว

แต่อย่ารีบร้อนรีบนำเงินไปให้คนร้าย ตำรวจในประเทศแถบเอเชียบอกว่า เรื่องในลักษณะเช่นนี้มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นแผนการต้มตุ๋นหลอกลวง ที่กำลังระบาดหนักขึ้นเรื่อย ๆ

เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศแถบเอเชีย - แปซิฟิก ออกคำเตือนว่า การฉ้อโกงรูปแบบต่าง ๆ ระบาดหนักขึ้น เนื่องจากความล้มเหลวทางธุรกิจและคนตกงานมากขึ้น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดเมืองปลอดภัยของทวีปเอเชียอย่างสิงคโปร์ แต่กำลังเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจเช่นกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นรายงานว่า ในปี 2008 การต้มตุ๋นหลอกเอาเงินทางโทรศัทพ์เพิ่มจากปีก่อนถึง 15 เปอร์เซนต์ โดยมีมูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงิน 7.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ราว 180 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ 4.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2007

"คดีเหล่านี้เพิ่มขึ้นมากจนน่าวิตก" เดวิด สกอตต์ อารูล รองผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการกรมตำรวจสิงคโปร์กล่าว

ขณะที่การหลอกลวงเพื่อเรียกค่าไถ่พุ่งพรวดขึ้นเกือบ 20 เท่าระหว่างปี 2007 - 2008 ก็มีอีก 2 รูปแบบของการต้มตุ๋นหลอกเอาเงินทางโทรศัพท์ที่ตำรวจสิงคโปร์วิตกกังวลอย่างมาก

อย่างหนึ่งคือการใช้อุบายเกี่ยวกับล็อตเตอรี แก๊งต้มตุ๋นจะอ้างว่าเป้าหมายถูกรางวัลล็อตโต โดยจะพยายามหลอกล่อให้เหยื่อจ่ายเงินล่วงหน้า จึงจะได้เงินรางวัลตามที่อ้าง

อีกรูปแบบหนึ่งคือ คนร้ายจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ศาลหรือตำรวจ แล้วเรียกเงินจากเหยื่อเพื่อแลกกับการยุติ "คดีความ" ที่พัวพันกับเหยื่อ

"คาดหมายกันว่า การต้มตุ๋นหลอกเอาเงินทางโทรศัพท์จะระบาดหนักขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ และพวกมิจฉาชีพจะปรับวิธีการฉ้อโกงในรูปแบบใหม่ ๆ " นายตำรวจระดับอาวุโสคนดังกล่าวบอกในรายงานคดีอาชญากรรมประจำปี ซึ่งคาดหมายด้วยว่า คดีขโมยและฉ้อฉลน่าจะเพิ่มสูงด้วยเช่นกัน

ที่ออสเตรเลียทางการวิตกกังวลว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของโลก นับตั้งแต่เหตุการณ์ " เกรท ดีเพรสชั่น" ในศตวรรษที่ 1930 อาจส่งผลให้เกิดการต้มตุ๋นมากยิ่งขึ้น

"มีความเป็นไปได้อย่างแน่ชัดว่า พวกมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เพื่อลักลอบล้วงข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ" สแคมวอชต์ หน่วยงานเฝ้าระวังการฉ้อโกงของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันของออสเตรเลียบอก

รูปแบบการต้มตุ๋นที่มักพบบ่อยที่สุดคือ อีเมล์ที่แอบอ้างว่ามาจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อหลอกถามข้อมูลส่วนตัวหรือเรียกเก็บเงินจากเหยื่อ สแคมวอชต์กล่าว

มีรายงานด้วยว่า มีเหยื่อมากกว่า 17,000 รายในออสเตรเลียตกเป็นเหยื่อของการตุ้มตุ๋น โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 33 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 808 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว และเตือนด้วยว่า ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้อาจทำให้ประชาชนถูกหลอกลวงได้ง่าย

เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ "การต้มตุ๋น" ทางอินเตอร์เน็ต เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึง 163 คดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2008 จากเดิมเพียง 36 คดีในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้จากข้อมูลของทางการ

"การที่คดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงมีเพิ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงเหยื่อ อันเป็นผลมาจากความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตและสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ " ตำรวจฝ่ายสืบสวนของออสเตรเลียบอกกับเอเอฟพี

"ตามหลักการแล้ว มันไม่ได้มากถึงขนาดว่ามีการฉ้อโกงมากขึ้นหรอก ถ้าจะพูดให้ถูก เป็นเพราะพวกมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงตัวเหยื่อได้มากขึ้นต่างหาก" สจ๊วร์ต โรส ผู้อำนวยการศูนย์กลางการวิจัยและประเมินงานด้านอาชญวิทยากล่าว

ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่น ตำรวจในพื้นที่รายงานว่า เกิดคดีอาชญากรรมแบบซึ่ง ๆ หน้ามากขึ้น เช่น การชักดาบไม่ยอมจ่ายเงินค่าอาหาร นับตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อประเทศนี้ถลำลึกเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเสรษฐกิจ โดยบริษัทต่าง ๆ พากันปลดพนักงานจำนวนหลายหมื่น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตำรวจญี่ปุ่นเพิ่งควบคุมตัวชายวัย 38 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่าชักดาบไม่ยอมจ่ายเงินจำนวน 3,670 เยน ราว1,400 บาท เป็นค่าอาหารและบริการอื่น ๆ ที่ร้านอินเตอร์เน็ต ตอนนั้นเขามีเงินติดตัวเพียง 5 เยน และสารภาพว่าเพิ่งตกงาน

ส่วนกรณีการต้มตุ๋นหลอกเอาเงินทางโทรศัพท์ที่ญี่ปุ่นได้เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยผู้สูงอายุที่มีฐานะร่ำรวยมักจะตกเป็นเหยื่อเสียเป็นส่วนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น